Top

นั่งรถไฟไปหา “ยักษ์”

นั่งรถไฟไปหา “ยักษ์”

Text/Photo : ศรัณย์ เสมาทอง

 

บนเส้นทางสายหนึ่งมีผู้คนมากมายเดินทางไปด้วยกัน สายตาบางคู่มองไกลไปนอกหน้าต่าง บางคู่มองไปยังเพื่อนร่วมทางที่นั่งตรงข้าม ในขณะที่บางคนปิดเปลือกตาเข้าสู่นิทรารมย์ ไร้ซึ่งบทสนทนา และเรามิอาจล่วงรู้จุดหมายปลายทางของแต่ละคน

 

“ขอที่นั่งด้วยค่ะ ตรงนี้หมายเลขที่นั่งฉัน” ผมกับเพื่อนลุกอย่างงง ๆ แล้วพลางหยิบตั๋วตัวเองขึ้นมาดู แล้วมองหน้ากัน มันก็ไม่มีบอกว่านั่งตรงไหนนี่นา

“เพิ่งขึ้นที่ชุมทางบางซื่อใช่ไหมน้อง” เสียงชายคนหนึ่งดังขึ้น “ไปลงที่ไหนกัน…อ๋อ…อยุธยา นั่งข้าง ๆ พี่ก็ได้ ถ้ามีคนล็อกเลขที่นั่งมาอีก ค่อยลุกให้” พี่เขายิ้มให้อย่างเป็นมิตร

“พี่ก็ลงอยุธยา ประมาณชั่วโมงนิด ๆ ก็ถึงแล้ว ตั๋วระยะสั้น ๆ เขาไม่ล็อกที่นั่งให้ ถ้าไปไกล ๆ เขาถึงจะลงเลขที่นั่งน่ะ”

ผมสารภาพเลย ผมเป็นแบบนี้ประจำ ถ้าเดินทางไปยังที่ซึ่งสามารถ “ด้นสด” ได้ ผมจะไม่ค่อยหาข้อมูล อยากปล่อยให้ความรู้สึกพาไป แล้วเหตุการณ์หลาย ๆ อย่างที่เกิดขึ้น จะนำไปพบเรื่องราวที่น่าประทับใจที่เราไม่ได้คาดฝันเสมอ

เพราะคิดแบบนี้ จึงมักเดินทางคนเดียว ไม่อยากให้เพื่อนร่วมทางต้องมาหงุดหงิดกับการไม่วางแผนของผม

 

รถไฟฟรี! มีจริงหรือเปล่า

“เจอกันที่สถานีชุมทางบางซื่อนะ” เพื่อนคนหนึ่งเอ่ยขึ้นมาว่าจะไปด้วย ผมนิ่งไปพักหนึ่ง ก่อนจะบอกนิสัยส่วนตัวของผม เผื่อเพื่อนจะรับไม่ได้

แต่สุดท้ายก็เดินทางด้วยกันจริง ๆ เราได้ตั๋วรถไฟชั้น 3 เที่ยว 8 โมง 40 นาที ราคาคนละ 20 บาท ส่วนรถไฟฟรีน่ะมีจริง แต่เป็นเที่ยวเช้ากว่านี้

ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าถ้าเช็คใน  www.railway.co.th/checktime/ ก็จะรู้ ผมก็ยังจะเดินดุ่ม ๆ มาถามหาตั๋วฟรีที่สถานีอีก แค่ใส่สถานีปลายทาง ต้นทางลงไปในเว็บไซต์ ดูประเภทรถไฟที่เขาเขียนว่า “ธรรมดา” หรือ “ชานเมือง” ตู้นั่งชั้น 3 จะฟรีแทบทุกขบวน แต่ที่นั่งไม่รับประกันว่าจะมีนะครับ ไปใกล้ ๆ ก็พอไหว ถ้าไปไกลแนะนำชั้นสอง หรือตู้นอนจะดีกว่า

“ผมเป็นเจ้าหน้าที่อยู่ในโรงพยาบาลจุฬาฯ สัก 2-3 วันก็กลับบ้านอยุธยาทีนึง” พี่สามารถ คนที่เรียกเรานั่งชวนคุย

“มีคนมาเที่ยวอย่างน้องเยอะ ฝรั่งในตู้นี้ก็นักท่องเที่ยวล่ะ” เมื่อเราบอกที่พักที่เราหมายตาไว้ จึงได้รู้ว่า เมื่อลงจากรถไฟจะมีร้านเช่าจักรยานและมอเตอร์ไซค์

“ถ้าไม่คิดจะเที่ยวฝั่งนี้ ลงเรือข้ามฟากไปก่อน ฝั่งโน้นก็มีให้เช่า” นั่นไง! การสนทนากับคนพื้นที่ เราได้ข้อมูลขั้นต่อไป

ผมลอบมองคนอื่น ๆ ที่ทอดสายตาไปแสนไกล บางคนก็มองเราสามคนคุยกัน “เขาคงอยากคุยกับเรานะ” ผมก็ได้แต่ยิ้มให้ “ถ้าเดินทางไกลกว่านี้จะไปคุยด้วยนะ” ทั้งหมดคิดอยู่ในใจ

รถด่วนขบวนของเราใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงก็ถึง เราเดินยิ้ม ๆ ผ่านดงจักรยานเช่าไปขึ้นเรือข้ามฟาก น้ำป่าสักยามนี้สีขุ่นข้นเหลือเกิน น้ำจากทางเหนือไหลบ่าลงมาท่วมบ้านที่ลุ่มบางแห่งแล้ว เข้าสู่เกาะเมืองอยุธยา ที่ว่าเป็นเกาะ เพราะมีแม่น้ำสามสายโอบล้อมอยู่ มีแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำลพบุรี

เรามาขึ้นฝั่งตรงตลาดเจ้าพรหม “มีร้านเช่าจักรยาน มอเตอร์ไซค์แบบพี่เขาบอกจริง ๆ แต่เราเดินก่อนนะ บ้านคุณพระอยู่ห่างไปร้อยกว่าเมตรเอง”

 

 

 

JN 24 4

เรือนไม้ร้อยปีริมฝั่งป่าสัก

พอได้หย่อนตัวลงเก้าอี้บนระเบียงบ้านชั้นสองของ บ้านคุณพระ ก็อยากนั่งแช่อยู่นาน ๆ สายตามองไปยังแม่น้ำป่าสักที่ไหลเอื่อย เรือโยงทรายผูกต่อกันหลายลำ แล่นสลับกันไปมา ทั้งทวนน้ำและล่องตามกระแส                         ผมสารภาพกับเพื่อนว่าเมื่อคืนแทบไม่ได้นอน กับอาการบ้าพลัง ทำงานจนถึงเวลาขึ้นรถไฟ คงต้องขอนั่งพักสักครู่ก่อนจะไปตะลุยกันต่อ

“ดื่มอะไรเย็น ๆ ไหม” ผมถามแบบไม่ต้องการคำตอบ ค่อย ๆ ย่องช้า ๆ จากระเบียงลงบันไดไปขอเครื่องดื่มที่ชั้นล่าง เพราะบ้านไม้อายุราวร้อยปี สร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 แบบนี้ ขืนเดินลงส้นปัง ๆ เหมือนที่คุ้นเคยกับตึกหรือคอนโด รับรองว่ากระเทือนไปถึงโสตประสาทของนักเดินทางถ้วนทั่วทุกห้องแน่

บ้านคุณพระมีที่พักสามแบบ เราเลือกเรือนริมน้ำ เป็นเรือนไม้สองชั้น ตกแต่งแบบดั้งเดิม เตียงมีเสาสี่เสา โต๊ะเครื่องแป้งไม้โบราณ รูปวาด รูปถ่ายผู้คน ติดและตั้งอยู่ตามมุมต่าง ๆ สันนิษฐานว่าจะเป็นคุณพระ หรือผู้คนที่เคยอาศัยอยู่ที่นี่ เคยเดินไปมาเข้าออกห้องหับต่าง ๆ ในเรือนนี้ ถ้าใครที่กลัวจินตนาการของตนเอง ไม่แนะนำเรือนนี้ เลือกไปนอนเรือนเล็กที่สร้างใหม่น่าจะดีกว่า หรือถ้าใครมาเดี่ยวจะเลือกนอนห้องแบบแชร์กับนักเดินทางคนอื่นก็มีไว้บริการเช่นกัน

ผมยืนมองรูปวาด “ทศกัณฐ์” ที่ฝาผนังอยู่นาน เป็นรูปที่นำลายเส้นหัวโขนมาผสานกับสไตล์สมัยใหม่ ดูเรียบง่ายแต่ดึงดูดใจให้ยืนนิ่งพิจารณา เรื่องโขนจะว่าโบราณคร่ำครึก็เห็นจะไม่ใช่ เพราะเห็นช่วงหลังมานี่คนนิยมดูโขนกันมากขึ้น และเราก็เห็นผู้คนหยิบตัวละครจากโขนรามเกียรติ์ มาใช้แสดงความเป็นไทยกันอยู่เนือง ๆ ออกมาน่าเกรงขามบ้าง น่ารักสนุกสนานบ้าง จนบางทีก็มีประเด็นให้ถกเถียงกันถึงความเหมาะสมบ้าง…ก็…ตามประสาวัฒนธรรมที่ยังคงมีชีวิตอยู่ล่ะ

“ไปไหนกันดี ดูแผนที่แล้วเลือกเลยนะ” เพื่อนยกหน้าที่ตัดสินใจมาให้ ผมกางแผนที่หมุนไปมาหลายรอบ “นึกไม่ออกว่ะ หาก๋วยเตี๋ยวกินกันก่อนไหม” อันนี้ไม่มีในแผนที่นะขอรับ

 

 

JN 24 3ก๋วยเตี๋ยวยังมียักษ์” เลย

“ก็เดินมาตามทาง ผ่านหน้าตลาดเจ้าพรหม แล้วเลี้ยวซ้ายตามทางเลียบตลาดตามเขาบอกแล้วนี่นา ร้านอยู่ไหนเนี่ย” เรากวาดสายตาอีกที “สังเกตธนาคารทหารไทย เลี้ยวซ้ายไปจะเจอร้าน” เพื่อนคนอยุธยาแนะนำมาแบบนี้ เป๊ะตามเขาว่า

ยักษ์ใหญ่ลูกชิ้น ชื่อเท่มาก ลูกชิ้นมีทั้งเนื้อและหมู ที่ร้านทำเองเสียด้วย แถมมีเต้าหู้ยัดไส้หมูสับหรือเนื้อสับ แบบที่ก๋วยเตี๋ยวแคะเขาใส่กันด้วย “แรก ๆ ขายเนื้อค่ะ ตอนหลังคนกินหมูเยอะขึ้น เลยทำหมูด้วย” คุณลัดดาวรรณ เจ้าของเล่าให้ฟังว่าขายมาตั้งแต่รุ่นคุณพ่อขี่ซาเล้งขายแถวท่าเรือข้ามฟาก เมื่อราว 70 ปีมาแล้ว “คุณพ่อตัวโตมาก เขาเลยเรียกกันว่า ยักษ์ใหญ่ จนกลายเป็นชื่อ ยักษ์ใหญ่ลูกชิ้น” ตอนนี้รุ่นลูกคุณลัดดาวรรณก็มาช่วยขายแล้ว และรุ่นที่ 4 เห็นมีรูปติดเต็มร้านไปหมด หนุ่มน้อยหน้าใส ซีดี The Star กันต์ธีร์ ปิติธัญ นั่นเอง มิน่าล่ะ เหมือนคุ้น ๆ ว่าเขาโปรโมทร้านก๋วยเตี๋ยวอยู่เหมือนกัน

อีกหนึ่งอย่างที่ไม่ควรพลาด เต้าหู้ทอด ตั้งกระทะทอดอยู่หน้าร้านนี่เอง ทอดกันยังไงไม่รู้ มันช่างอร่อยล้ำ กรอบกรุบ ๆ แต่ข้างในยังไม่แห้งแข็ง นี่กินอย่างละสอง ทั้งก๋วยเตี๋ยวและเต้าหู้ทอด

เหลือบไปเห็นป้ายที่ติดในร้าน เฮ้ย!! เขานำทศกัณฐ์มาเขียนเป็นการ์ตูนถือชามก๋วยเตี๋ยว ก็ถูกของเขานะ ยักษ์ใหญ่ก็ต้องทศกัณฐ์น่ะสิ เจอเจ้ากรุงลงกาถึงสองครา มันเป็นสัญญาณอะไรหรือเปล่า ผมกางแผนที่ทันที “เฮ้ย ที่ชุมชนวัดตึกมีแหล่งทำหัวโขน เราต้องไปอันนี้แล้วล่ะ” เพื่อนพยักหน้าตามใจ

 

 

 

JN 24 2พบยักษ์ตัวจริง

รถตุ๊ก ๆ หัวกบมาส่งเราหน้าวัดตึก ว่ากันว่าเดิมเป็นตำหนักของสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 หรือสมเด็จพระพุทธเจ้าเสือ ภายในวัดมีศาลพันท้ายนรสิงห์ นายท้ายผู้ซื่อสัตย์ ที่เราคงเคยได้ยินเรื่องเล่า หรือดูหนังดูละครเรื่องราวของบุคคลสำคัญนี้กันมาบ้าง เราเข้าไปสักการะศาลทางด้านในกันก่อน

“ไม่มีแล้วมั้ง เคยมีบ้านทำอยู่ทางโน้นแน่ะ” พี่ที่ดูแลตำหนักพระเจ้าเสือตอบคำถามถึงแหล่งผลิตหัวโขนที่เราตามหา แต่ผมขอเดินหาให้แน่ใจว่าไม่มีแล้วจริง ๆ

เราเดินมาไม่ไกลก็ได้พบบ้านหลังหนึ่งขึ้นป้ายว่า “ช่างหุ่นหัวโขน” แต่ประตูรั้วปิดเงียบ เราชะเง้อมองในบ้าน ไม่มีวี่แววผู้คน “มาหาใครคะ” เสียงดังมาจากชั้นสอง

“ที่นี่ยังทำหัวโขนอยู่ไหมครับ” เท่านั้นล่ะเราก็ยิ้มได้ เพราะต้นเสียงตอบรับและบอกให้เราเปิดประตูเข้าไปได้เลย

นี่คือบ้านของ ..พันธ์สวัสดิ์ ศุขสวัสดิ ผู้สืบทอดการทำหัวโขนมาจากบิดา ...จรูญสวัสดิ์ ศุขสวัสดิ ที่เริ่มต้นจากการเล่นโขนและซ่อมแซมหัวโขนจนชำนาญ ทำต่อเนื่องมายาวนาน

จนเมื่อปี 2527 ได้รับการยกย่องจากสำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติให้เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม (ภาคกลาง) และ ปี 2536 ได้รับการยกย่องจากคณะกรรมการวันอนุรักษ์มรดกไทยให้เป็น ผู้อนุรักษ์มรดกไทยดีเด่น และหลังจากที่บิดาได้จากไป ม.ล.พันธ์สวัสดิ์ ก็ได้สืบทอดต่อเรื่อยมา

“หัวโขนใหญ่ยังใช้วิธีขึ้นรูปด้วยกระดาษอยู่ค่ะ ส่วนขนาดเล็กจะใช้ปูนพลาสเตอร์ขึ้นรูปก่อน แล้วค่อยใช้กระดาษปิดทับอีกที” คุณแหม่ม-วรลักษณ์ ศุขสวัสดิ ณ อยุธยา ผู้สืบทอดรุ่นที่ 3 เล่าให้ฟัง หลังจากที่มีโครงหัวโขนขึ้นมาแล้ว ก็จะตกแต่งเพิ่มโดยใช้ยางรักมากดกับพิมพ์ลายไทยที่ทำมาจากหินสบู่ เป็นชิ้นเล็ก ๆ ค่อย ๆ มาประดับ ก่อนจะลงสีวาดลวดลาย ปิดทอง หรือประดับกระจกอีกที “วิธีการดั้งเดิมเลยค่ะ บางทีก็แพ้ยางรักเป็นผื่นแดงไปหมด ต้องใช้ดินสอพองผสมน้ำอบทาแก้แพ้” คุณแหม่มเล่าให้ฟังอย่างอารมณ์ดี

ปัจจุบันทำหลายขนาด เพราะหัวโขนขนาดใหญ่ใช้เวลาทำนานร่วมเดือน และราคาสูง “ก็อยากให้คนได้ไปชื่นชม เลยทำหัวเล็กลงมา และมีแบบเล็กมาก ๆ ด้วยนะคะ” ความสวยงามของหัวโขน ถึงขั้นเคยได้รับเลือกให้เป็นของที่ระลึกในงาน APEC CEO 2003 เชียวล่ะ

ผมมองไปในดวงตาของรูปยักษ์ แล้วนึกถึงหลาย ๆ เหตุการณ์ที่ผม “ด้นสด” มา ราวกับเขาส่งสัญญาณบอกว่าเราควรจะเดินทางมาตามหาเขาให้เจอ “ดีใจครับ ที่ยังคงทำงานฝีมือนี้อยู่”

 

 

JN 24 5

เด็กในร่างยักษ์

ออกจากบ้านทำหัวโขนอย่างมีความสุข นึกขึ้นได้ว่าเราผ่านที่หนึ่งมา ที่ ๆ แสนสะดุดตา “เราไปพิพิธภัณฑ์ของเล่นกันไหม” มองเห็นแววตาดีใจของเพื่อน ผู้ที่ยังคงคลั่งไคล้ซุปเปอร์ฮีโร่อยู่จนทุกวันนี้

คนสะสมของเล่นมากมายจนเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ได้ คือ อ.เกริก ยุ้นพันธ์ อาจารย์สอนวรรณกรรมสำหรับเด็ก นักวาดภาพประกอบ และคนทำหนังสือสำหรับเด็ก จึงรวบรวมของรักของเด็ก ๆ มาให้ได้ชมกันเสียเลย

พิพิธภัณฑ์ล้านของเล่น เกริก ยุ้นพันธ์ (Million Toy Museum) เปิดมาตั้งแต่ปี 2551 มีของเล่นทั้งเก่าและรุ่นปัจจุบัน ตั้งแต่ของเล่นสังกะสี ตุ๊กตาเซลลูลอย์ สารพัดตัวการ์ตูนญี่ปุ่น มีหุ่นซุปเปอร์ฮีโร่ตัวเท่าคนให้ได้ถ่ายเซลฟี่

ไม่ว่าตัวเล็กหรือตัวโต จะมาเล่นสนุกหรือมาเรียนรู้ ก็ได้รอยยิ้มกลับไปทุกราย

 

เมื่อโลกยังคงดำเนินต่อไป เรื่องราวต่าง ๆ มีเกิดขึ้นใหม่เสมอ ยักษ์ในวรรณคดีจะกลายร่างเป็นการ์ตูนอยู่คู่กับชามก๋วยเตี๋ยวบ้าง คงไม่ผิดมากนัก หรืออาหารเย็นของเรา “ตำชะอมชุบไข่” คงไม่มีใครห้ามนำชะอมชุบไข่มาคลุกน้ำส้มตำ หรือหวงไว้กินกับน้ำพริกกะปิและใส่แกงส้มเท่านั้น

บนเส้นทางสายเดิมที่เราเคยมาเยือน ลองหันมามองอีกครั้ง ที่เดิมที่เคยคุ้นก็อาจมีเรื่องราวใหม่ ๆ ให้เราตื่นเต้นก็เป็นได้

mkteventmag
No Comments

Post a Comment