Top

เสน่หา “นาข้าว”

เสน่หา “นาข้าว”

Column : Journey –Rice

Writer/Photo :ศรัณย์ เสมาทอง

 

 

“สายแล้วนะ เดี๋ยวไม่ทันดูหมอก” เสียงเพื่อนปลุกให้ลุกแต่เช้าตรู่ ผมค่อยๆ ลืมตา นอนนิ่งๆ ให้ร่างกายปรับตัวเข้ากับอากาศเย็นเยียบ ค่าอุณหภูมิจากโทรศัพท์บอก 15 เซลเซียส “เฮ้ยยยยย…” เสียงเร่งดังมาจากนอกห้อง หมดเวลาโอ้เอ้แล้วสิเรา

 

แม่แจ่ม เมืองในหุบเขาชื่อดังของเชียงใหม่ เราได้เห็นภาพทุ่งนาขั้นบันไดกลางสายหมอกมานักต่อนัก แต่สำหรับผมแล้ว เสน่ห์ของทุ่งนาในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ให้ความรู้สึกที่ดีเสมอ “ไปดูทุ่งนากันไหม” เมื่อไรได้ยินประโยคเชิญชวนแบบนี้ ถ้าว่างก็ร่วมทางทุกที แม้ยังไม่รู้ว่าจะเจอทุ่งข้าวสีสันแบบไหนก็ตาม

 

 

Smart Farmer เกษตรกรยุคใหม่

ช่วงเวลาการปลูกข้าวในเมืองไทยจะต่างกันไปตามช่วงฝนและน้ำที่ไหลหลากมาในพื้นที่ ตั้งแต่ต้นฝนราว ๆ กรกฎาคมก็มีการหว่านกล้าบ้างแล้ว และมีหลายพื้นที่ที่เชิญชวนให้ไปร่วมสนุกกับการดำนา ด้วยประโยคสุดเท่ “ดำวันแม่ เกี่ยววันพ่อ” ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นที่นาในที่ลุ่ม มีการชลประทานสมบูรณ์ ควบคุมน้ำได้ค่อนข้างดี

แต่นาบางที่ต้องรอฝนพรำจริงจัง หากอยากเห็นนาสีเขียวสดใสในเมืองไทย ประมาณปลายกันยายน ถึงปลายตุลาคมคงไม่ผิดหวัง และช่วงเวลาเก็บเกี่ยวมักเริ่มตั้งแต่ธันวาคมยาวไปจนถึงกุมภาพันธ์

“เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเพิ่งเริ่มเกี่ยวครับ ก็ทยอยเกี่ยวไปเรื่อย ๆ เพราะลงข้าวไว้ไม่พร้อมกัน” คนแม่แจ่มเล่าให้ฟัง เพราะบนพื้นที่สูงที่เรามาสัมผัสสายหมอก หลายแห่งเหลือเพียงตอข้าว และหลายแห่งเป็นต้นข้าวโพดแห้ง ๆ

“ข้าวโพดไม่ต้องใช้น้ำเยอะ ปลูกแล้วปล่อยไว้ได้” แต่…เราคงได้ยินเรื่องหมอกควันที่คลุมเมืองเชียงใหม่กันมาบ้างแล้ว มันจะมาในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม เหตุหลักเกิดจากการเผาเศษซากข้าวโพดของหลาย ๆ อำเภอ “เรารณรงค์ให้เลิกเผา และมีหน่วยที่เตรียมพร้อมรอดับไฟ ในกรณีที่เกิดไฟไหม้ขึ้น”

ทางจังหวัดเชียงใหม่ และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เขาเตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา ถึงขั้นมีรถรับสัญญาณดาวเทียมของ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือที่เรารู้จักในชื่อ GISTDA มาตั้งที่ตัวอำเภอ เพื่อรอดูว่ามีไฟไหม้เกิดขึ้นที่ใดบ้าง เมื่อเกิดขึ้นจะได้ไปจัดการได้ทันท่วงที

“ที่บ้านเรา ต.ท่าผา ก็มีการนำเศษข้าวโพดมาหมัก เพื่อนำไปเป็นอาหารวัวด้วย” เรื่องราวเหล่านี้เราแทบไม่เคยรู้ เศษข้าวโพดและฟางข้าว เมื่อนำมาหมัก คล้าย ๆ กับการทำปุ๋ยหมักนั่นล่ะ ทำให้มันนุ่มขึ้น หอมขึ้น คุณค่าทางอาหารสูงขึ้น และวัวชอบกินเสียด้วย

เมื่อเลิกมักง่าย คิดให้มากขึ้น นำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เข้ามาปรับใช้ ประโยชน์ก็เกิดขึ้นได้ไม่ยากเย็น เกษตรกรสมัยใหม่นี้ต้องเป็น Smart Farmer กันแล้ว นักเดินทางอย่างเราก็ได้แต่ยิ้มให้ เอ่ยปากชม และแอบให้กำลังใจกันต่อไป

 

 

 

cof

ข้าว GI ข้าวที่มาพร้อมรอยยิ้ม

            นึกถึงครั้งที่ไปพัทลุงเพื่อลุยแปลงนา “ข้าวสังข์หยดอินทรีย์” ข้าวที่ชาวนาบอกว่า “ก็ขายได้ดี ไม่มีปัญหาอะไร”

ข้าวสังข์หยดเป็นข้าวพันธุ์แรกของไทยที่ได้รับการประกาศเป็น “ข้าว GI” (Georgraphical Indications) เป็นการบ่งชี้ชัด ๆ เรื่องทางภูมิศาสตร์ จริง ๆ ต้องเรียกชื่อว่า “ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง” คือ ต้องปลูกที่นี่เท่านั้น เพราะสภาพพื้นที่ สภาพอากาศ แสง และอื่น ๆ เหมาะสมลงตัวที่สุด เป็นข้าวเม็ดเล็กหน่อย สีขาวปนแดง มีธาตุเหล็ก แคลเซียม และวิตามิน B3 สูงมาก

“แรก ๆ ที่ปลูกแบบอินทรีย์ เพราะอยากให้คนในบ้านได้กินข้าวดี ๆ พอชวนกันมาปลูกเยอะ ๆ เป็นกลุ่ม ก็สามารถขายเองได้ราคาดีไปด้วย” เกษตรกรหนุ่มพูดให้ฟังพร้อมรอยยิ้ม J25-2

นี่ไง… Smart Farmer ปลูกแบบอินทรีย์ ลงแรงกับนามากหน่อย แต่ประหยัดเงินในการซื้อปุ๋ย และสารเคมี พอได้ผลผลิตดี ๆ ก็ทำการขายเอง เพราะทางโรงสีหรือพ่อค้าคนกลางกดราคาเขามากเกินไป ชีวิตปลอดภัย เลี้ยงชีพได้ ไม่เคยต้องออกมาร้องเรียนอะไร “ทำจริงจังให้เวลาดูแล ถ้ามีเวลาดูแลแล้ว ข้าวมันก็จะตอบแทนเราดีเองล่ะครับ”

 

 

 

 

“หอมมะลิ” พระเอกแห่งทุ่งกุลาร้องไห้

พูดถึงราคาข้าวตก พลันนึกถึง “ทุ่งกุลาร้องไห้” ที่ราบกว้างใหญ่ กินพื้นที่ 5 จังหวัดในอีสาน ร้อยเอ็ด สุรินทร์ มหาสารคาม ศรีสะเกษ และยโสธร เขาได้ชื่อว่าปลูกข้าวหอมมะลิได้ดีที่สุด

J25-5 แม้ว่าจะเคยได้ชื่อว่าเป็นทุ่งแล้ง ดินไม่เหมาะกับการปลูกพืชอะไรเลย เจอสภาพพื้นที่และอากาศที่เรียกได้ว่า “กรำศึกหนัก” ทั้งดินเป็นทรายรสเค็ม มีน้ำท่วม แต่หน้าแล้งก็แล้งเหลือใจ ช่วงหนาวก็หนาวเหน็บ หมอกลงจัดอีกด้วย

แต่สภาพแบบนี้ ประกอบกับแสงแดดที่ลงตัว ทำให้ “ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้” มีรสชาติที่ดีและกลิ่นหอมกว่าข้าวที่ปลูกที่อื่น ๆ

“แม้มักจะเล่นตลก  แต่โลกก็ให้ทางออกเสมอ” อันนี้ผมคิดเอง

หลาย ๆ หน่วยงานก็ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ พยายามผลักดันให้ทำการปลูกข้าวแบบอินทรีย์ พยายามสร้างประวัติศาสตร์ที่ดีให้กับข้าว สามารถตรวจสอบกลับมาได้ว่าข้าวที่ส่งถึงมือผู้บริโภค มาจากนาของใคร ปลูกมาอย่างไร มีหลายที่ที่ทำตามมาตรฐาน Organic Thailand แต่เชื่อไหมว่าแปลงนาไม่ไกลกัน ยังบอกว่า “ไม่รู้ว่าทำยังไง ข้าวอินทรีย์ยากไหม”

ที่เราเคยเห็นเรื่องราวตามโซเชียลเน็ตเวิร์ก ว่าคนรุ่นใหม่กลับไปทำนา แล้วมาขายข้าวกันเองโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง สงสัยว่าปริมาณ Smart Farmer ยังคงไม่เพียงพอ
แต่ไม่ว่าอย่างไร การได้เดินเล่นริมทุ่งนาที่ทุ่งกุลาร้องไห้อันแสนกว้างใหญ่ ก็ทำให้รู้สึกดีเสมอ เห็นแล้วชื่นใจว่าคนไทยต้องไม่ขาดแคลนอาหารเป็นแน่ เพราะเห็นความพยายามของหลายภาคส่วน ทั้งตัวจังหวัดเอง และหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่พร้อมให้ความรู้ และพัฒนาการเกษตรให้ดีขึ้น สักวันหนึ่ง…เรื่องราวการปลูกข้าวอินทรีย์ จะต้องไปถึงพี่ ๆ ชาวนาทุกคนแน่นอน

“โลกก็ให้ทางออกเสมอ” ผมยังเชื่ออย่างนั้น

 

 

 

“ข้าว” ทำอะไรก็อร่อย

J25-6 J25-7

ในกระแสราคาข้าวตก แต่หลายครั้งในการเดินทาง ผมก็ได้ยินเรื่องราว “การดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด” ด้วยการแปรรูปข้าวเป็นผลิตภัณฑ์ที่พร้อมจะทำราคาได้มากกว่าเดิม เช่น ที่สุรินทร์มีการนำข้าวหอมมะลิ 105 มาทำเป็นน้ำข้าวกล้องงอกผสมธัญพืชสารพัดชนิด ขายดีไม่น้อย

แต่ที่น่าตกใจ คือ ที่ลำปาง มีการทำข้าวแต๋น ข้าวเหนียวหุงสุกผสมน้ำแตงโม ทำเป็นแผ่นตากให้แห้ง  ก่อนนำมาทอดให้พองแล้วราดด้วยน้ำตาลเคี่ยวเหนียว เป็นของขายดีมากถึงขั้นทำกันทั้งหมู่บ้าน

มีเจ้าหนึ่งชื่อว่า “ข้าวแต๋นอำพัน” เป็นธุรกิจครัวเรือน คุณแม่กับลูกชายคนรุ่นใหม่ ช่วยกันคิดทำข้าวแต๋นในรูปแบบที่ร่วมสมัย นำมาขึ้นรูปเป็นแท่ง ปรุงรสเป็น “ข้าวแต๋นบาร์รสต้มยำ” สามารถกินเป็นเพาเวอร์บาร์สำหรับคนออกกำลังกายได้เลย

ที่เรียกว่าสุดยอดครีเอทีฟ เห็นจะเป็น “ข้าวแต๋นบาร์ลำไยเคลือบช็อคโกแลต” นำข้าวแต๋นมาขึ้นรูปเป็นแท่ง แต่ใส่ลำไยอบแห้งลงไปด้วย แล้วนำมาเคลือบช็อคโกแลตอีกชั้นหนึ่ง นึกถึงรสชาติกันเองนะครับ

ผมได้ชิมมาแล้ว เชื่อว่าถ้ามาบุกกรุง คงจะขายดีไม่น้อย

 

 

นาหิน ที่ทำกินบนดอยสูง

J25-11เมื่อกลางพฤศจิกายน 2559 ได้ไปร่วมสร้างฝาย สืบสานพระราชปณิธาน กับทางกองทัพบก ที่ จ.น่าน จริง ๆ แล้วโครงการนี้จะนำน้อง ๆ นักศึกษาคนรุ่นใหม่ มาศึกษาพื้นที่ป่าต้นน้ำ และได้ลงมือปลูกป่าสร้างฝายด้วยตนเอง ครั้งนี้ที่น่านมีเพียงการสร้างฝาย เพราะเริ่มเข้าหนาว อากาศจะแห้งแล้ง ปลูกต้นไม้ไปก็รักษาได้ยาก การสร้างฝายขนาดเล็ก เน้นการกักน้ำไว้บ้างเพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้กับผืนป่า เพราะบนเขาสูงแบบนี้ แม้จะมีป่ามีฝน แต่น้ำก็ไหลลงไปสู่เบื้องล่างอย่างรวดเร็วเช่นกัน

โครงการเกษตรที่สูงบ้านสะจุก-สะเกี้ยง ชื่อแปลกและสวยแปลกตากว่าที่คิด มีบ่อน้ำผุดที่มีน้ำใส ๆ ผุดขึ้นมาเรื่อย ๆ ภาพต้นไม้ใหญ่สะท้อนลงผิวน้ำ สร้างความสงบให้จิตใจได้ไม่น้อย

นี่เอง!! นี่ล่ะแนวคิดของการสร้างฝาย เมื่อพื้นที่มีความชุ่มชื้น ป่าไม้ก็กลับคืนมาได้ โดยไม่ต้องลงมือขุดหลุมปลูกเลยแม้แต่น้อย  แถมยังสมบูรณ์พอให้ชาวบ้านบนที่สูง สามารถปลูกพืชผักเมืองหนาว เช่น สตรอว์เบอร์รี มัลเบอร์รี หรือ ลูกหม่อน สร้างรายได้ได้อีกทางหนึ่ง

edf

ที่น่าตื่นเต้น เขามี “นาหิน” คือพื้นที่บนภูเขาและหุบเขา ที่มีร่องน้ำเล็ก ๆ ไหลผ่าน แม้จะมีหินเต็มพื้นที่ ก็ค่อยๆ นำหินมากองทำเป็นเหมือนคันนากันดินถล่มลงไป สร้างเป็นนาขั้นบันไดกลางหุบเขา ปลูกข้าวไร่ที่ไม่ต้องการน้ำมาก

“เมื่อคนไม่ยอมแพ้ โลกก็ต้องยอมเปิดทางให้ล่ะ”

แม้วันที่ผมเดินทางไปถึงสะจุก-สะเกี้ยง เขาจะเกี่ยวข้าวหมดแล้ว แต่นึกถึงวันที่ข้าวระบัดใบทั้งหุบเขาสิ “ไม่ได้ละ ฤดูทำนาครั้งหน้า ขอกลับมาอีกทีได้ไหมเนี่ย”

 

เรื่องราวความงดงามของทุ่งนาไทย เป็นเรื่องที่พูดได้ไม่รู้จบ แม้ว่าจะเคยเดินทางไปเยือนมาแล้ว แต่ถ้าไปในช่วงเวลาที่ต่างไป เสน่ห์ก็เปลี่ยนไปอย่างไม่น่าเชื่อ

          “เฮ้ย!! กินข้าวกัน” เสียงเพื่อนตะโกนมาตามผมอีกครั้ง ทำไมผมต้องกลายเป็นคนโอ้เอ้เรื่อยเลย ไม่เข้าใจจริง ๆ นี่สงสัยว่าตอนกินข้าว ต้องโดนเพื่อนว่าโอ้เอ้อีกแน่เลย เพราะผมจะกินอย่างละเลียดที่สุด

“ให้คุ้มกับเหงื่อของพี่ ๆ ชาวนา” ผมคิดอย่างนั้น

 

 

mkteventmag
No Comments

Post a Comment