Top

การทำงานในยุค 4.0 จะอยู่หรือจะไป

การทำงานในยุค 4.0 จะอยู่หรือจะไป

เราเดินทางมาถึงจุดที่ใคร ๆ ก็พูดว่า เรากำลังก้าวเข้าสู่ยุค “ไทยแลนด์ 4.0” แล้ว

เรากำลังจะเป็นอย่างนั้นจริง ๆ ใช่ไหมครับ?

ธุรกิจหลาย ๆ ธุรกิจอาจเดินทางถึงเป้าหมายที่ได้วางไว้ แต่อีกหลาย ๆ ธุรกิจก็อาจเกิดอาการสะดุดขาตนเองระหว่างทาง ใน MKT Event ฉบับนี้ ผมจะพูดถึงการสร้างคนคุณภาพเพื่อเตรียมความพร้อมสู่ทีมคุณภาพ เป็นประเด็นที่อาจจะเคยเขียนถึงไปแล้ว แต่อยากจะยกมาให้อ่านกันอีกสักครั้ง เพื่อตอกย้ำให้เกิดการสร้างองค์กรคุณภาพในยุค 4.0 เราจะเตรียมพร้อมคน เตรียมพร้อมตัวเราเองกันอย่างไร…

 

  1. คุณรับรู้ไหมครับว่าองค์กรคาดหวังอะไรกับตัวคุณบ้าง?

ในวันนี้ถ้าตัวคุณไม่สามารถตอบตัวเองได้ว่าองค์กรคาดหวังอะไรกับตัวคุณ มันก็น่าจะยากยิ่งที่เราจะเป็นคนที่มีคุณภาพนำพาองค์กรไปสู่เวที 4.0 ได้ ซึ่งถึงแม้องค์กรไม่เคยบอก ตัวเราก็ควรจะตระหนักได้ด้วยตัวเราเอง เราต้องรู้ในฐานะนักทำงานมืออาชีพ อาทิเช่น

– ด้านคุณภาพ (Quality) งานที่เราทำถูกแก้ไขน้อยลงไหม, ปัญหาการเคลมของลดลงบ้างไหม, ปัญหาของเสียลดลงหรือไม่ เป็นต้น อย่าลืมนะครับว่า “คุณภาพของงานขึ้นอยู่กับคุณภาพของคน”

– ด้านการกำหนดส่งงาน (Delivery) อาทิ เราส่งของได้ตามกำหนดเวลาหรือไม่, เราผลิตได้ตามแผนงานที่วางแผนไว้หรือไม่, เรามีสต๊อกของมากเกินไปหรือไม่, เรามีความรวดเร็วในการทำงานเพิ่มขึ้นหรือไม่ สิ่งเหล่านี้เราต้องทำความเข้าใจและตั้งใจทำงานตามที่องค์กรคาดหวังไว้เพื่อที่เราจะได้มีความก้าวหน้าและองค์กรจะได้เติบโตไปตามที่ควรจะเป็น

 

  1. มีค่างานไหนที่คอมพิวเตอร์ทำแทนเราไม่ได้บ้าง?

ต้องยอมรับว่าธุรกิจในทุกวันนี้ เรื่องต้นทุนเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะทำให้องค์กรอยู่รอดหรือเติบโตไปได้ในอนาคต ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่เราใช้กำลังคนในภาคธุรกิจเยอะเพื่อให้ได้ผลผลิต แต่ในทุกวันนี้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในกระบวนการผลิตและการทำงาน ดังนั้นค่างานที่เราทำในวันนี้อาจจะกลายเป็นค่างานของคอมพิวเตอร์หรือเทคโนโลยีไปแล้วก็เป็นได้ และถ้าเราปล่อยให้เป็นแบบนี้เรื่อย ๆ วันหนึ่งเมื่อคอมพิวเตอร์ทำแทนค่างานเราได้ทั้งหมด ตัวเราเองนั้นอาจจะสะอื้นได้เมื่อองค์กรไม่ต้องการเรา ซึ่งตอนนี้เริ่มมีหลายองค์กรใหญ่ ๆ คัดคนออกเรียบร้อยแล้ว บางทีตัวเราเองต้องตระหนักมาก ๆ นะครับถ้ายังคิดว่าองค์กรจะดูแลเราไปจนแก่เฒ่า มันอาจจะไม่มียุคนั้นอีกแล้วก็ได้ เพราะถ้าเราไม่ทำอะไรกับตัวเรา ตัวเราเองนั่นแหละที่จะกระเด็นออกนอกองค์กรก่อนใคร ๆ ว่าไหมครับ

 

  1. เมื่อเทียบกับคนอินเดียหรือคนจีน มีค่างานไหนของตัวเราที่คิดว่าเราทำได้ดีกว่าคนสองประเทศนี้บ้าง?

ทุกวันนี้บางสายงานในองค์กร คนของสองประเทศนี้สามารถสนองตอบความคาดหวังขององค์กรและสามารถทำงานได้ดีตามที่องค์กรต้องการกว่าค่างานของคนไทยด้วยกัน และที่สำคัญ ค่าแรงงานและสวัสดิการของคนเหล่านี้ยอมรับได้มากกว่าคนไทย อาทิ

ความเชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี หรือภาษาอังกฤษ และภาษาอื่น ๆ ถ้าคนอินเดียทำงานด้านนี้ในประเทศอินเดีย จะได้เงินเดือนอยู่ที่ประมาณ 9,000 บาท – 10,000 บาท แต่ถ้าความสามารถนี้มาอยู่ในองค์กรของไทย คนอินเดียจะได้เงินเดือนประมาณ 25,000 บาท – 35,000 บาท เลยทีเดียว อีกหน่อยประเทศเราคงจะมีแต่ต่างชาติเข้ามาทำมาหากินมากขึ้น แถมยังมีความสามารถมากกว่าอีกต่างหาก

 

เมื่อเรารู้อย่างนี้แล้ว เราจะทำอย่างไรกับตัวเรากันดีครับ?

 

จะทำงานไปวัน ๆ โดยที่ไม่รู้เป้าหมายในชีวิต ไม่รู้ว่าจะพัฒนาตนเองอย่างไรกันอยู่อย่างนี้ใช่หรือเปล่าครับ หรือจะลุกขึ้นมาตั้งใจทำงานของตนเองและคอยหมั่นตรวจเช็คความสามารถของตนเองในองค์กร ว่าตัวของเรานั้นมีความสามารถที่เพียบพร้อมตามที่องค์กรต้องการอยู่หรือไม่ และคอยหมั่นเติมเต็มตนเองอยู่ตลอดเวลา เพราะการเรียนรู้ไม่เคยมีวันสิ้นสุด

หมั่นทำงานของตนเองให้เชี่ยวชาญ ขยันอาสารับงานเพิ่มเพื่อฝึกฝนตนเองให้มีทักษะอยู่ตลอดเวลา และตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน พยายามหาวิธีที่จะเดินทางสู่เป้าหมายนั้น ๆ พร้อมคอยตรวจสอบตนเองอยู่ตลอดเวลาว่า เรากำลังทำอะไรอยู่ เพียงแค่นี้คุณก็จะเป็นพนักงานในองค์กรที่พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงที่จะก้าวสู่ยุค ไทยแลนด์ 4.0 ได้แล้วล่ะครับ

 

mkteventmag
No Comments

Post a Comment