Top

ค้นหาแง่งามและความหมายของการ ‘สร้างสุขที่ปลายทาง’

ค้นหาแง่งามและความหมายของการ ‘สร้างสุขที่ปลายทาง’

เรากำลังเรียนรู้กาลเวลา บนถนนชีวิตที่ทอดยาวแสนไกล

เรากำลังเรียนรู้ความเป็นไป กับสิ่งที่เกิดและดับไปพร้อมกัน

*ดั่งใบไม้ที่ร่วงโรยหล่นมา ก็เกิดอีกใบเริ่มต้นใหม่เช่นกัน

หากเธอมองดี ๆ คือความจิรงที่ไม่ต่าง ที่เราต่างคนต้องเรียนรู้ (ให้เราต่างคนได้เรียนรู้)

(จากเพลง ‘เบาใจ’ / คำร้อง ทำนอง เรียบเรียง : มินท์ แตรตุลาการ)

                เราทุกคนรู้วันเกิด แต่ไม่เคยมีใครเลยที่จะสามารถล่วงรู้วันตายของตัวเอง เมื่อไม่รู้และไม่สามารถกำหนดสภาพความเจ็บป่วยของตนเองได้ในวาระสุดท้าย ‘ความตาย’ จึงเป็นสภาวะอันดำมืด เต็มไปด้วยคำถามและข้อสงสัยอันแสนเศร้า นำพาให้ทุกชีวิตเกิดความหวั่นกลัว เมื่อวาระสุดท้ายเดินทางมาถึง

เมื่อเรามิอาจกำหนดอะไรได้ในสภาวะของความตายทั้งของตนเองและผู้อื่น ทางออกที่ดีที่สุดคือการยอมรับว่านั่นเป็นวิถีธรรมดาตามธรรมชาติที่ควรยอมรับ ดึงสติให้มองเห็นความเป็นจริงในกระบวนการดังการ เตรียมตัวเตรียมใจนับเสียแต่วันนี้ เพื่อสร้างวาระสุดท้ายที่สวยงามที่สุดจะดีกว่า หรือไม่?

ผมหาคำตอบให้หัวใจตนเองด้วยคำถามดังกล่าว ก่อนพาตัวเองมาที่งาน ‘สร้างสุขที่ปลายทาง’ งานอีเว้นท์อันแสนเรียบง่ายได้แก่นสาระแห่งชีวิต สร้างขึ้นบนแนวคิดแห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 12 ที่ว่า

บุคคล มีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียง เพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้     

 

C1_N3387

C1_N2450

C1_N1672

 

            ซึ่งงานสร้างสุขที่ปลายทางนี้สร้างจากความคิดและการบริหารงานของ ‘บริษัท เซ็นทรัม จำกัด’ โดยมี ‘สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ’ (สช.) เป็นแม่งานใหญ่ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 1-2 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา

หลังจากที่มีโอกาสได้เดินชมงานในภาพกว้างด้วยตัวเองไปหนึ่งรอบ ผมเองได้มีโอกาสคุยกับ คุณมณีรัตน์ ทองแพ – โปรเจกต์ไดเรคเตอร์ และ คุณฤทธิ์ ยวงอู ครีเอทีฟกรุ๊ปเฮด แห่งบริษัท เซ็นทรัมฯ ถึงเบื้องหลังการจัดงานครั้งนี้

ทั้งสองคนได้เล่าถึงที่มาของการจัดงาน ‘สร้างสุขที่ปลายทาง’ ให้ผมฟังโดยสรุปว่างานนี้ถูกจัดขึ้นโดยทาง สช. มีความต้องการจะเปิดกว้างให้ประชาชนได้เข้ามาเรียนรู้เนื้อหาของพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 12 อันบอกกล่าวถึงนัยยะสำคัญของทางเลือกของคนที่สามารถระบุว่าจะรับหรือไม่รับการรักษาแบบใดได้ในลมหายใจสุดท้ายของชีวิต โดยสามารถเขียนขึ้นมาเป็นพินัยกรรมเพื่อคุ้มครองสิทธิของตัวเองได้อย่างชัดเจน เพื่อเตรียมความตายเฉพาะตัวที่ตัวเองต้องการแบบไม่เจ็บปวด และไม่เป็นภาระให้แก่คนข้างหลังที่ยังมีชีวิตอยู่

 

TU9_9484

เมื่อได้รับโจทย์จากลูกค้า (สช.) ทางออแกไนเซอร์จึงได้ทำการระดมความคิดเพื่อคิดโซลูชั่นงานที่ตอบโจทย์ดังกล่าว สร้างสรรค์ออกมาเป็นการจัดพื้นที่ในธีม ‘สวนแห่งทางเลือก’ ให้ผู้เข้าร่วมงานสามารถเดินเล่นภายในสวนที่ถูกจัดแบ่งไว้เป็นโซนทั้ง สวนแสงเทียน, สวนศิลป์, สวนสงบ ในบรรยากาศที่เงียบ สงบ เย็น จัดเป็นเส้นทางที่ถูกห้อมล้อมไปด้วยเกร็ดข้อมูล สาระ มีทั้งงานศิลปะและความเชื่อทางศาสนา ให้ได้เรียนรู้ รวมถึงการแสดงข้อมูลและนวัตกรรมด้านการประคับประคองผู้ป่วยจากภาคีของ สช. เพื่อให้เราได้เก็บข้อมูล แล้วนำมาประมวลสร้างเป็นองค์ความรู้ และทางเลือกในมุมมองของความตายให้เหมาะสมมากที่สุด ทั้งกับตัวเราและคนที่เรารักนั่นเอง

พอได้ฟังที่มาของงาน ยิ่งทำให้ผมในฐานะผู้ร่วมงานได้เข้าใจในเนื้อหาของงานมากขึ้น ทำให้การเดินชมภาพถ่ายเชิงศิลปะของศิลปินชื่อดังที่ถูกคัดสรรมาแสดง รวมถึงการเดินชมบอร์ดความรู้เกี่ยวกับความตายจากหลากหลายศาสนา ของผมมีความหมายมากยิ่งขึ้น

 

รวมถึงการเดินชมนวัตกรรมทางเทคโนโลยีต่าง ๆ ในการประคับประคองผู้ป่วยที่เครือข่ายภาคีนำมาจัดแสดง ก็ยิ่งลดความหวาดหวั่นในความกลัวการเจ็บไข้ที่นำไปสู่ความตายให้ผมได้อย่างน่าประหลาด ซึ่งก็ไม่ต่างจากคนแก่เฒ่าหลายคนที่ผมแอบสังเกตเห็นรอยยิ้มของเขา เมื่อได้ชมนวัตกรรมเหล่านี้ ทั้งยังสามารถยิ้มได้เมื่อต้องเขียนพินัยกรรมในสมุด ‘เบาใจ’ ส่งให้ลูกหลานที่พามา

 

TU9_9485

และอีกหนึ่งคอนเทนต์ที่ถือได้ว่าเป็นไฮไลท์ของงานที่สามารถตรึงความสนใจและสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างผู้เข้าร่วมงานกับเนื้อหาของงานได้อย่างมากที่สุดก็คือ การเสวนา และการเวิร์คชอป มีหัวข้อที่น่าสนใจเกิดขึ้นบนเวทีที่ห้อง Ball Room, ลานเรียนรู้ และห้อง Meeting Room 1-2

อันนี้แหละถือเป็นซอฟต์แวร์สำคัญที่เติมเต็มเนื้อหาสาระให้งานอันแสนเรียบง่าย มีคุณค่า และน่าจดจำได้อย่างมาก ซึ่งในส่วนนี้ต้องยกความดีความชอบให้กับ สช. ในฐานะเป็นกำลังหลักในการคัดสรรเนื้อหา และวิทยากรผู้เชี่ยวชาญมาสร้างเป็นการเสวนาที่น่าจดจำ ในหัวข้ออาทิ

  • เสวนา “ความตายในหลากมิติวัฒนธรรม”
  • เสวนา “หนทางสู่สุคติ The Road to Rest in Peace”
  • เสวนา “คำสั่งเสียก่อนจากลา”
  • เสวนา “การดูแลแบบประคับประคอง: ทางสองแพร่งของการรักษา”
  • เสวนา “มุมมองความตายสายอินดี้”
  • “ความตายบนแผ่นฟิล์ม” ชมภาพยนตร์สั้นและร่วมวิจารณ์ผ่านวงเสวนา
  • เวิร์คชอป “เตรียมตัวตายอย่างมีสติกับลมหายใจสุดท้าย”

C1_N1660 C1_N1108

รวมถึงอีกหลากหลายหัวข้อที่น่าสนใจ ที่ผมไม่สามารถเข้าร่วมและนำบอกเล่าได้หมด (เพราะมันอัดแน่นจริงๆ) ซึ่งทุกประสบการณ์จากทุกวงสนทนาต้องบอกเลยว่าเป็นสาระความรู้ที่ทุกเพศทุกวัยสามารถนำไปฝึกจิตใจของตนเองเตรียมพร้อมเมื่อความตายทั้งของตัวเองและคนใกล้ตัวมาถึง

โดยส่วนตัวต้องยอมรับเลยว่าการได้มาชมงาน ‘สร้างสุขที่ปลายทาง’ นั้น ได้สร้างมุมคิด วิเคราะห์ที่เกี่ยวกับความตายให้ผมได้อย่างมากมาย ทั้งยังตอบคำถามบางประการที่ผมยังสงสัย นำไปสู่ความรู้ความเข้าใจเพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของตัวเองให้เรียนรู้ในการสร้างชีวิตในวันนี้อย่างมีคุณค่า เพื่อเดินทางไปสู่จุดสุดท้ายของชีวิตได้อย่างไร้ความกังวล

 

TU9_8086

และผมก็มายืนอยู่ในจุดสุดท้ายของงานนั่นคือ สวนแสงเทียน’ ใช้เวลาอยู่นานทีเดียวในส่วนนี้เพื่อซึมซาบกับเนื้อหาและท่วงทำนองเพลง ‘แสงเทียน’ บทเพลงพระราชนิพนธ์ใน ‘พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร’ ก่อนเปิดสมุดเบาใจมาอ่านอีกครั้งในหน้าสุดท้าย

ก็แค่เข้าใจในความเป็นจริง ปล่อยให้ใจเบา ๆ เป็นไปตามสบาย

            มีพบก็มีพราก อย่าไปยึดให้มันมาก

            บทชีวิตที่หลากหลาย ฉากสุดท้าย …. ก็เช่นนั้น

mkteventmag
No Comments

Post a Comment