Top

ทำไมถึงอยากอยู่ “ปากช่อง” ?

ทำไมถึงอยากอยู่ “ปากช่อง” ?

 

                การเดินทางเป็นเรื่องง่ายดาย แต่ก้าวแรกนี่สิ ทำไมช่างยากเย็น

                 “อากาศดีมากนะ มาเสียทีเถอะ ชวนมาตั้งนานแล้ว” เอ้-ธีรนุช ยอดนุ่น ผู้ประกาศสาวคนดัง ทักมาทาง social network

                “ผักสด ๆ จะหมดแปลงแล้วนะ จะมาชิมหรือยัง” หอม-คำหอม ศรีนอก สาวเก่งอีกคนส่งคำพูดผ่านตัวอักษรมาในทางเดียวกัน

“คงถึงเวลาต้องก้าวเท้าออกจากชีวิตยุ่ง ๆ อีกครั้งแล้วใช่ไหม” ผมบอกกับตัวเอง

“ทำไมใคร ๆ ถึงอยากไปอยู่ปากช่องกันนักนะ” คือคำถามที่ผุดขึ้นมาขณะที่มองท้องฟ้าผ่านกระจกหน้ารถ เหมือนเรากำลังวิ่งตามเมฆก้อนที่อยู่ข้างหน้า ผมขอเพื่อนที่รับบทพลขับเปลี่ยนเพลงให้จังหวะช้าลง ก่อนจะก้มหน้าลงดู GPS ที่ปักหมุดตลาดปากช่องไว้

หรือเพราะระยะทางนะ เพียงแค่ 160 กว่ากิโลเมตร จากกรุงเทพฯ ถึง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา นับว่าขับรถไม่ทันเหนื่อย แต่ได้อยู่ในพื้นที่ชิดกับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อากาศคงจะดีทั้งปี

“ช่วงนี้กลางวันร้อนมากกก แต่กลางคืนหนะเย็นสบาย” ใคร ๆ ก็เอ่ยแบบนี้

“แต่พี่มาทุกเสาร์ – อาทิตย์นะ มาทีไรก็ไม่ค่อยอยากกลับไปรถติดในเมืองเลย” เอ้-ธีรนุช ยอดนุ่น ผู้ประกาศสาว ที่ตอนนี้พ่วงงานสายวิทยุ เกี่ยวกับเรื่องจราจรเข้าไปด้วยพูดให้ฟัง

ผมรีบบวกเหตุผลเข้าไป นอกจากมาเจอป่าได้ในระยะทางไม่ไกล รถยังไม่ติดอีกด้วย แค่นี้พอหรือยังกับการมาอยู่ปากช่อง

journey1

เชฟสมพงษ์ “หรูหรา ราคาติดดิน”

หลังจากวางมีดกับส้อม เราถึงขั้นขอเดินไปคุยกับเชฟ รสชาติซี่โครงแกะเมื่อครู่ยังตรึงอยู่ในความรู้สึก

เธอต้องไปชิม ร้านอยู่แถวสี่แยกตลาดปากช่อง ฉันส่งแผนที่ไปให้แล้วนะ” คำหอม ศรีนอก สาวเมืองที่ผันตัวมาอยู่ปากช่องสวมบทกูรูกำชับ แล้วก็สมใจอยาก ได้ลิ้มรสสเต็กแกะมีเดียมแรเนื้อด้านในยังฉ่ำหวาน

เชฟสมพงษ์เคยปรุงอาหารอยู่ที่โรงแรมดุสิตธานีตั้งแต่สมัยเปิดโรงแรม ก่อนจะผันตัวไปอีกหลายแห่ง รวมทั้งเรือสตาร์ครูซ

“ผมเป็นเขยปากช่อง และลูก ๆ ก็อยากให้กลับมาอยู่ด้วยกันครับ” เชฟตอบขณะง่วนกับการสับหอมใหญ่ “ถ้าลงมือเข้าครัว ก็อดไม่ได้ที่จะใช้ของดี และต้องปรุงให้อร่อย คือถ้าเรากินเองยังไม่ชอบ คนอื่นก็คงคิดเหมือนเรา” เราก็ได้แต่ยิ้ม และเอ่ยเบา ๆ “จริงครับ”

สเต็กดีราคาย่อมเยา น่าจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งในการเลือกมาอยู่ปากช่อง

 

journey2

งานศิลป์กลางขุนเขา

หลังจากควานหา ‘KhaoYai Art Museum’ ในแผนที่จนเจอ เราก็มุ่งหน้าบุกป่าฝ่าดง ต้องพูดแบบนั้น เพราะเจ้า GPS ช่างฉลาดล้ำ หาเส้นทางที่ใกล้ที่สุดให้เรา จากทางใหญ่ ๆ ก็เริ่มเล็กลงเรื่อยๆๆๆๆ จนรถเกือบไปต่อไม่ได้

“เอาน่า สุดท้ายก็มาถึง” ผมให้กำลังใจตัวเองเงียบ ๆ หลังผ่านความหวาดหวานมาหมาด ๆ

แต่พอเข้าในพื้นที่ศิลปะ ก็เริ่มตะลึงกับชิ้นงานที่ตั้งอยู่กลางสวน หลายชิ้นคุ้นตาจากที่เคยเห็นตามข่าวคราวงานศิลป์ แม้แต่อาคารก็เหมือนประติมากรรมชิ้นสวย บนพื้นที่ราว 20 ไร่

เรารีบวิ่งขึ้นไปร้านกาแฟที่อยู่ชั้นบนสุด ใจหนึ่งคืออยากจิบกาแฟหอม ๆ อีกใจก็รู้ว่ามุมมองจากร้านกาแฟที่ชั้นบนสุดของอาคาร สามารถมองเห็นประติมากรรมที่จัดวางบนสนามหญ้าด้านล่าง

ที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวของคุณ ‘พงษ์ชัย จินดาสุข’ นักธุรกิจที่ชื่นชอมและสะสมงานศิลปะของศิลปินดัง ๆ ไว้หลายยุคหลายสมัย วันนี้งานที่มีอยู่สามารถจัดแสดงได้อย่างน่าตื่นตาในห้องแสดงงานในอาคารหลัก ๆ มีอยู่ 3 ห้อง รวมผลงานของศิลปินดัง อาทิ ถวัลย์ ดัชนี, ชลูด นิ่มเสมอ, ประเทือง เอมเจริญ, ช่วง มูลพินิจ, เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์, ประหยัด พงษ์ดำ, หรืองานของรุ่นเยาว์ลงมาอย่าง ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี, เริงศักดิ์ บุณยวาณิชย์กุล และอีกหลาย ๆ ท่าน  ที่สำคัญจัดแสดงแบบไม่เก็บค่าเข้าชม

นอกจากนี้ยังมีที่แสดงงานหมุนเวียน ที่มีศิลปินผลัดเปลี่ยนมาแสดงผลงานใหม่ ๆ อีกด้วย นี่เอาอยู่ท่ามกลางขุนเขา ยังไม่ห่างความรื่นรมย์ ฤานี่ควรบรรจุไว้ในเหตุผล “ทำไมคนถึงอยากมาอยู่ปากช่อง”

 journey3

พื้นที่แห่งชีวิต Ville De La Vie

เราปั่นจักรยานออกจากรีสอร์ทมาไม่ไกล ดวงตะวันก็เริ่มลับเหลี่ยมเขา แสงสุดท้ายของวันยังไม่จางหาย ยังพอเก็บบันทึกความทรงจำที่แสนดีตรงหน้าได้

ทุ่งหญ้ากว้างไกลสุดตาถึงตีนเขา นกกาฝูงใหญ่ค่อย ๆ บินตามกันเข้าสู่แหล่งรังนอน เริ่มเข้าใจที่พี่เอ้-ธีรนุช เคยเอ่ยไว้ในโซเชียลเน็ตเวิร์กว่าการเดินทางกลับกรุงเทพฯ ช่างยากเย็น เห็นต้นไม้ใบหญ้า เห็นความเรียบง่ายแล้วอยากกลับรถมาซุกตัวที่บ้านชายป่าตีนภูทุกทีไป

วิลล์ เดอ ลา วี (Ville De La Vie) เกิดจากความฝันของครอบครัว จากการที่ได้เดินทางไปยังเมืองสวย ๆ มาทั่วโลก พี่เอ้ก็นำความประทับใจมารวมไว้ในที่ของตน

แต่ท่ามกลางอาคารทรงกลมแปลกตา แผงรั้ว หลังคาไม่เคยคุ้น กลับรู้สึกได้ถึงความอบอุ่น อาจเพราะในรายละเอียด เขาใส่ลูกเล่นที่สะกิดความรู้สึกลงไปเสมอ อาจแทรกอยู่ในชิ้นโมเสคบนผนัง  ประติมากรรมชิ้นเล็ก ๆ ใต้ต้นไม้ดึงดูดสายตา รั้วไม้ไผ่กั้นระหว่างบ้านพักให้เกิดความเป็นส่วนตัว แต่ยังพอมีช่องให้นักเดินทางได้ลอบมองและมีรอยยิ้มให้แก่กัน ไปจนถึง “มอคค่า” น้องหมาตัวโตที่วิ่งตามให้ความรู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวเขา

ปั่นจักรยานกลับมาถึงที่พัก บาร์บีคิวดินเนอร์ของเรารออยู่ที่หน้าบ้านพัก มอคค่าผู้น่ารักยืนกระดิกหางรอ ความสุขง่าย ๆ แบบนี้ สำหรับบางคนต้องเดินทางมาตามหากว่าร้อยกิโลเมตรจากบ้านตัวเอง…เชื่อไหม

ความฝันของพี่เอ้ คำหอมและผู้คนที่มาอยู่ปากช่องอีกอย่างหนึ่ง คือการนำสิ่งดี ๆ มาให้กับชีวิต ส่งเสริมการเป็นอยู่แบบออร์แกนิค บอกกันคงไม่เข้าใจ จัด workshop สอนเกี่ยวกับไลฟสไตล์ที่ดีกันไปเลยดีกว่า ที่เพิ่งผ่านไปก็ชวนกันจัดชั้นเรียนทำขนมปังกินกันเอง

ผ่านคืนหนึ่งในรีสอร์ทสวย ก็ได้เข้าใจแล้วว่าทำไมพี่เอ้ถึงอยากกลับรถทุกครั้งที่ออกเดินทางกลับเมืองหลวง

journey4

แกงคั่วหอยขม ของเด็ดริมน้ำลำตะคอง     

“เธอจะไปกินแกงคั่วหอยขมไหม” คำหอมเพียรถามหลายครั้งตั้งแต่ก่อนมา เราก็ไม่เข้าใจเสียทีว่าถามทำไมนัก “มันต้องจองล่วงหน้านะ เดินดุ่ม ๆ เข้าไปไม่ได้กินนะเธอ” ครับผม…บอกแบบนี้ตั้งแต่แรกก็เซย์เยสไปแล้ว

เราเดินทางลึกเข้าไปทางอุทยานเขาใหญ่ จุดหมายเป็นไร่ผืนเล็ก ๆ ริมต้นน้ำลำตะคอง “เจ้าของเคยเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่ผันตัวมาอยู่ปากช่อง” คนนำทางบรรยายสรรพคุณ เสียงเธอเริ่มห่างไกลออกไป ในสมองผมมีแต่คำถามว่า ทำไมนะ คนถึงอยากมาอยู่ปากช่องกันนัก

มาถึงต้องวิ่งเข้าครัวเพราะ ‘พี่เบียร์’ เจ้าของต้องทำครัว ไม่มีคนช่วยยกข้าวของ เราลำเลียงอาหารไปที่นั่งริมน้ำ ไม่ใช่ที่หรูหราบอกก่อนเลย แต่บรรยากาศน่านั่งชิลนาน ๆ

พี่เบียร์กับสามีมาเปิดที่นี่เมื่อราว 15 ปีก่อน ชีวิตเรียบง่าย สงบ ๆ ยึดให้ปักหลักฝังหมุดที่ป่าต้นน้ำ ใครจะมาเยี่ยมมาพักต้องติดต่อมาก่อน เพราะเขาไม่ได้เตรียมข้าวของไว้ให้ใคร ๆ จะมาเมื่อไรก็ได้ ทำให้คนที่นี่ไม่พลุกพล่านเหมาะกับการมาพักผ่อน

“วันนี้ไม่ได้สั่งน้ำพริกผัวหลงกันนี่เนอะ คราวหน้ามากินอีกนะ จะตำให้กิน” ผมถือเป็นคำสัญญานะพี่เบียร์ เพราะคราวนี้มุ่งหน้ามาหาแกงคั่วหอยขมเป็นหลัก กินกับปลาทอดตะไคร้ ก็แทบจะเคลิ้มอยู่แล้ว “เกือบไม่ได้กินแล้วนะเธอ ตัดสินใจกันช้ามาก” คราวหน้าจะบอกล่วงหน้านาน ๆ นะคำหอม

 journey5

สาวสวนผักแค่ใจรักก็ทำได้

“ฉันมีร็อคเก็ตเหลือไว้ให้ มากันช้าน่าจะแก่ไปนิดนึง ท่าทางจะเผ็ดซ่า แต่ฉันว่าเธอกินได้แน่” คำหอมพูดพลางพาเดินไปหลังบ้าน พื้นที่เล็ก ๆ มีเจ้าร็อคเก็ต ผักอร่อยราคาดีปลูกอยู่หย่อมเล็ก ๆ คนไม่รู้จักคงมองข้ามนึกว่าวัชพืช ผมขอเก็บสักพักนะ

คำหอม ศรีนอก เป็นทายาทของนักเขียนศิลปินแห่งชาติ นามปากกา ลาว คำหอม ออกจากเมืองมาอยู่ปากช่องมาหลายปีแล้ว แรก ๆ ก็เพื่อดูแลคุณพ่อ แต่พออยู่ไปก็เริ่มสนุก ปลูกผักออร์แกนิคขายเสียเลย “บางช่วงส่งขายสมาชิกในกรุงเทพฯ และร้านในปากช่อง เกือบ 30 รายแน่ะ” แต่ที่ว่าบางช่วง เพราะคนงานไม่ได้มีมากนัก คำหอมก็ปลูกได้เท่าที่แรงมี

เรานัดกันว่าจะมาเมื่อหลายสัปดาห์ก่อน แต่ด้วยความที่กับดักในเมืองมันเยอะเกินไป กว่าจะออกเดินทางได้แปลงผักก็อยู่ในระยะเตรียมดิน เพื่อลงผักชุดต่อไป แอบเห็นผักก้านสีแดงสดหลงเหลืออยู่ คิดในใจว่าน่าจะเป็นรูบาร์บ (Rhubarb) ก้านสีแดงน่าจะเปรี้ยว “มันคือ สวิสชาร์ด (SwissChard) จ้า รสจะไม่แรง กรอบ ๆ เหมือนผักสลัด” อ้าว นึกว่ารู้จักแล้วนะเนี่ย

ทุกวันนี้วันที่ผักครบกำหนดปลูก คำหอมก็จะโพสต์ข้อความถามไถ่เพื่อนฝูงที่อยากได้ผักดี ๆ มาขึ้นโต๊ะอาหาร แล้วนัดมาปาร์ตี้พร้อมรับผักไปในคราวเดียวกัน นี่ละนะ ถ้าอยู่ไกลกว่าปากช่อง คงทำแบบนี้ไม่สะดวกนัก

เราเดินเที่ยวลึกเข้าไปในไร่ ยิ่งลึกยิ่งรก ดูเหมือนป่าลึกทั้ง ๆ ที่อยู่ห่างจากถนนใหญ่เพียงนิดเดียว คำหอมพาเดินคล่องแคล่ว พูดไม่หยุดตลอดทาง ดูท่าทางมีความสุข

“ดีใจด้วย ที่เห็นเพื่อนมีความสุข เราเนี่ยอยากมีที่ทางมาอยู่แบบนี้ใจจะขาด เฮ้อ!!” แน่นอน ผมคิดในใจ

 

เพลงเบา ๆ บนรถที่มุ่งหน้ากลับกรุง ช่างเหมาะกับบรรยากาศโพล้เพล้ ใกล้เวลาตะวันลาโลกอีกครั้ง ผมยังครุ่นคิดเรื่องเหตุที่คนหลายคนมุ่งหน้ามาอยู่ปากช่อง เพียงแต่ครั้งนี้เปลี่ยนไป ผมไม่สงสัยแล้ว เพราะเมืองนี้น่าอยู่จริง ๆ แต่กำลังเปรียบเทียบต่างหาก ว่าเหตุผลไหนนะ ที่น่าจะเป็นเบอร์หนึ่ง

            เพื่อนละมือจากพวงมาลัยมาเปลี่ยนเพลงจังหวะเร้าใจ “ถึงเวลากลับสู่โลกความจริงแล้วสินะ” คราวนี้ผมรำพึงขึ้นมาลอย ๆ

———————————————————————

 Text/Photo :ศรัณย์ เสมาทอง

mktevent
No Comments

Post a Comment