Top

“หนังสั้น” แต่มิตรภาพยืนยาว

“หนังสั้น” แต่มิตรภาพยืนยาว

Writer/Photo : ศรัณย์ เสมาทอง

 

สงขลาผ่านสายตาเยาวชน

 

MKT-Event-#-20-431

                               “เร็วหน่อยครับผม ดูเหมือนฝนจะตกแล้ว เดี๋ยวออกเรือยากนะ” พี่ผู้นำกลุ่มที่ทำหน้าที่เหมือนครูอีกคนหนึ่งเร่งน้อง ๆ นักทำหนังมือใหม่…มาก ให้รีบเตรียมการถ่ายทำให้เรียบร้อย เมฆฝนตั้งเค้ามาแล้ว ผิวน้ำใน “คูขุด” อ.สทิงพระ จ.สงขลา เริ่มมีเพียงสีเทา ลมพัดแรงจนสร้างริ้วคลื่นถี่ซัดปะทะฝั่งและกราบเรือหางยาว
พี่วิทยากรสามคนกระจายตัวติวเข้มน้อง ๆ มัธยม ตามสิ่งที่ตนถนัด ใครได้ตำแหน่งช่างภาพก็มาลองหามุมกล้องที่เหมาะ ผู้กำกับและผู้ช่วยคนอื่น ๆ เข้าไปคอยฟังพิธีกรรุ่นจิ๋วที่พูดจาฉะฉานอยู่หน้ากล้อง แม้จะเป็นการซ้อมถ่ายทำก็ตาม
เมื่อทุกสิ่งพร้อม หนังสั้นพาตะลอนเที่ยวในอุทยานนกน้ำคูขุดก็เริ่มเปิดกองถ่ายอย่างจริงจัง!!
“พี่ครับ สนใจไปสอนเด็ก ๆ ถ่ายภาพ เขียนหนังสือ ทำหนัง กันไหมครับ เริ่มจากไปสงขลาเลย” เสียงจากปลายสาย น้องตุล-ตุลย์ หิรัญญลาวัลย์ ช่างภาพคนเก่งเอ่ยชวน ผมใช้เวลาไม่นานนักในการตอบตกลง แต่ตั้งแต่ได้ยินคำว่าสงขลา ภาพประติมากรรมนางเงือกที่หาดสมิหลาก็ผุดพรายขึ้นในความคิด นางเงือกนั่งสางผมด้วยหวีทองคำมีเกาะหนู เกาะแมว เป็นฉากหลังอยู่ไม่ไกลจากฝั่ง นางนั่งอยู่ตรงนี้เข้าปีที่ 50 แล้ว ผมเพิ่งเคยไปเยือนครั้งเดียว และอยากกลับไปใกล้ชิดเธออีกสักครั้ง

 

MKT-Event-#-20-43

โครงการครั้งนี้ชื่อว่า “โครงการเยาวชนรักบ้านเกิด ปักษ์ใต้บ้านเรา” จัดโดย สศร. หรือ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย พาน้องมัธยมจากปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล มากกว่า 100 คน มาเรียนรู้เรื่องการถ่ายภาพ การเขียน และการทำหนังสั้น ๆ หรือ Clip แบบที่คุ้นเคยกันนั่นล่ะ เผื่อว่าวันข้างหน้า น้อง ๆ เหล่านี้จะสามารถเป็นผู้ที่นำเสนอเรื่องราวของชุมชนให้คนอื่นรับรู้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการท่องเที่ยวหรือศิลปวัฒนธรรมก็ตาม

ลึก ๆ แล้วผมคิดว่าน่าจะดีถ้าโลกเราเลิกเผยแพร่ภาพหลุด คลิปหลุด ที่ไร้สิ่งจรรโลงใจ
เส้นทางมี 12 เส้นทาง ที่จะให้น้อง ๆ แบ่งกลุ่มลงพื้นที่ ถ่ายภาพในมุมมองของตัวเอง เขียนคำบรรยายถึงสิ่งที่คิดได้จากการมองภาพนั้น และมีหนังสั้นนำเสนอเรื่องราวในพื้นที่ ให้คนที่เห็นอยากตามไปดูด้วยตาตนเองสักครั้ง ที่แรกที่เพียงแค่ได้ยินชื่อผมก็อยากไปสัมผัสแล้ว คือ อุทยานนกน้ำคูขุด อ.สทิงพระ เป็นส่วนหนึ่งของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลสาบสงขลา ห่างจากตัวเมืองสงขลาราว ๆ 30 กิโลเมตร มีเกาะเล็กเกาะน้อยหลายเกาะ ผู้ครอบครองพื้นที่ คือ นกประจำถิ่นนานาพันธุ์ รวมทั้งนกอพยพมาเฉพาะฤดูกาลก็มี เคยมีการบันทึกว่ามีนกหายากปรากฏตัวที่นี่ด้วย เช่น นกกาบบัว นกกุลาขาว เหยี่ยวรุ้ง นกเงือกกรามช้าง เป็นต้น
ด้วยพื้นที่เป็นโคลน น้ำไม่ลึกนัก นกบางชนิดจึงสร้างรังบนผิวน้ำได้ เรือนักเดินทางหลายลำก็วิ่งเฉียดไปมา “ระวังอย่าไปล่วงล้ำธรรมชาตินะครับ ห้ามไปกวนรังนก อย่าเก็บไข่นก” เราพอจะกำชับน้องรุ่นหลัง ๆ ได้ ก็เตือนไว้ก่อนดีกว่า เพราะที่คูขุดนี้เข้าถึงรังนกง่ายมาก คนที่ไม่รักธรรมชาติก็มักจะเป็นโรคมือไม่อยู่สุขไปพร้อมกันอีกโรคหนึ่ง

“หนูถ่ายแต่ภาพมา ไม่ได้เข้าไปจับค่ะ” ดีมากครับ ยิ่งถ้าคนที่เป็นเจ้าบ้านไปทำสิ่งไม่ถูกไม่ควร เผยแพร่ออกสื่อ ก็จะยิ่งทำให้คนที่มาทีหลังเลียนแบบ คนที่ลำบากที่สุด…ก็นกเจ้าบ้านนั่นเองล่ะ

MKT-Event-#-20-44
จากคูขุดเรารีบบึ่งไปให้ทันกลุ่มน้อง ๆ ที่ถ่ายทำเรื่องเกาะยอ เกาะเล็ก ๆ กลางทะเลสาบสงขลา ชุมชนชาวประมงสำคัญ โดยเฉพาะการเลี้ยงปลากะพงขาวในกระชัง ทำกันเป็นล่ำเป็นสัน เด็ก ๆ ได้ไปให้อาหารปลา ลองถักอวนกับชาวบ้าน รวมไปถึงเยี่ยมชมกลุ่มทอผ้าเกาะยอ คนแถวนี้เข้าใจนักเดินทางดีเพราะมีการจัดการโฮมสเตย์กันเรียบร้อยแล้ว เรื่องราวที่เด็ก ๆ นำเสนอมา จึงเรียกรอยยิ้มและเสียงหัวเราะจากคนดูได้ไม่ยากนัก
“แวะกินข้าวยำกันนะครับ ผมเคยมากินทีหนึ่ง จำได้ราง ๆ พี่พาไปหน่อยนะ” สารถีบันดาลให้ในบัดดล ร้านที่คุ้นเคยขายหมดไปแล้ว เหลือร้าน “ป้าลิ่ม” ชะโงกหน้าดูก็เห็นสิ่งพึงประสงค์ “ลง ๆ ๆ ที่นี่โอเค”

ข้าวยำ_IMG_4529
น้องตุลถอดบทบาทครูลงไปสวมวิญญาณชาวเกาะยอขูดมะม่วงเบาให้เป็นเส้นฝอย ป้าลิ่มนำข้าวไปคลุกกับบูดูหวานเสียก่อน ค่อยนำมาจัดจานโรยผักสารพัด พาโหม มะกรูด ชะพลู ตะไคร้ ถั่วงอก ถั่วฝักยาว มะพร้าวคั่วหอม ๆ มะม่วงเบาขูดฝอย สิ่งสำคัญที่ผมวิ่งเข้าหาคือเกสรชมพู่ม่าเหมี่ยวสีชมพูสด อยากกินมานานตั้งแต่อยู่เมืองหลวง รู้สึกดีใจมากที่มาเจอที่นี่ และของแท้ต้องมีเส้นหมี่ผัดราดมาด้วย แล้วเราก็พักกลางวันอย่างปลื้มปริ่ม

                          ที่เชิงสะพานเชื่อมเกาะยอกับตัวเมืองสงขลา มีสวนประวัติศาสตร์ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ตั้งอยู่ที่นั่น หลายคนผ่านไปมาอาจไม่เคยเข้าไปชม ในพื้นที่มากกว่าร้อยไร่นอกจากจะมีอาคารที่บอกเล่าเรื่องราวของพลเอกเปรม และเรื่องเมืองสงขลาแล้ว ยังมีแหล่งเรียนรู้ป่าชายเลน และสวนพฤกษศาสตร์ ให้ได้เข้าไปศึกษาพร้อม ๆ กับพักผ่อนหย่อนใจ มีประติมากรรมขนาดใหญ่ตั้งอยู่กลางแจ้งให้ได้ชื่นชม ชิ้นสีแดงสะดุดตาที่กลางสนามหญ้าเขียวสด เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงพลเอกเปรมท่านได้หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความซื่่อสัตย์และจงรักภักดีลงสู่แผ่นดิน แล้วหยั่งรากงอกงามแตกกิ่งใบเติบโตในจิตใจของผู้คน ทุกคนสามารถเข้ามาพักผ่อนหย่อนใจ หรือจะจัดกลุ่มเข้ามาตั้งแคมป์ จัดกิจกรรม หรือสัมมนาได้ด้วย
บ่ายแล้ว ตีรถกลับเข้าเมือง ไม่รู้ทีมน้องจะยังถ่ายทำอยู่ไหม

ถ่ายทำ5
ถึงในตัวเมืองสงขลา พบกองถ่ายของน้องกลุ่มที่ถ่ายเรือนปั้นหยาหลังงาม ที่รู้จักกันดีในนาม พิพิธภัณฑ์พธำมะรงค์ เป็นการจำลองบ้านของสกุลติณสูลานนท์ เป็นบ้านเกิดของพลเอกเปรมนั่นเอง ชื่อ “พธำมะรงค์” ได้มาจากตำแหน่งของบิดาท่าน “พะทำมะรง” เป็นตำแหน่งพัสดีเรือนจำที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เพิ่งมายกเลิกคำนี้ไปเมื่อ พ.ศ. 2479 นี่เอง
น้อง ๆ จัดเพื่อนที่วาจาฉะฉานเป็นคนนำเที่ยวในบ้านปั้นหยา เดินชมห้องนอน ห้องทำงาน บุกไปถึงครัวของตระกูลกันเลยทีเดียว สิ่งที่ผมรู้สึกได้ก็คือ ชีวิตคนสมัยก่อนไม่เห็นต้องมีบ้านหลังใหญ่หรูหรา ไม่ต้องมีสิ่งที่ “เกิน” ความ “พอดี” ก็สามารถเป็นคนดีและยิ่งใหญ่ได้เช่นกัน
คิดว่าน้อง ๆ คนรุ่นใหม่ จะรับรู้ได้ถึงเนื้อความที่แฝงอยู่ในบ้านหลังเล็กหลังนี้
ตบเท้าไปต่อที่ย่านเมืองเก่าของสงขลา มีถนนสายหลักอยู่สามสาย ถนนนครนอก ถนนนครในและถนนนางงาม จุดเด่นของถนนสายโบราณ คือ อาคารบ้านเรือนแบบชิโนโปรตุกิส และตึกแถวแบบจีนโบราณยังอวดโฉมอยู่ แม้ว่าจะคร่ำคร่าแต่นึกย้อนเวลากลับไป ชุมชนนี้คงรุ่งเรืองมาเป็นถนนสายค้าขาย ที่รวบรวมผู้คนหลายวัฒนธรรมไว้ด้วยกัน
“ของกินก็โดดเด่นมากนะ ต้องมีกลุ่มหนึ่งทำเรื่องอาหารบนถนนสายนี้โดยเฉพาะ” เจ้าโปรเจกต์เอ่ยไว้ตั้งแต่เริ่มงาน ก็จะกินอะไรกันล่ะ ขนมไทยก็ดี ไอศกรีมก็เด็ด ข้าวสตูร้านเกียดฝั่ง สตูสูตรจีนกินคู่กับซาลาเปา หรือจะก๋วยเตี๋ยวหางหมู ไส้กรอกสูตรเวียดนาม ถ้าอาหารไทย ๆ หน่อยก็ต้อง แต้เฮี้ยงอิ้ว ร้านโบราณอร่อยแทบทุกจาน ที่ดังโดดเด่นเห็นจะเป็นผัดผักบุ้งไทย เมนูง่าย ๆ ที่อร่อยอย่างไม่น่าเชื่อ และเนื้อปูผัดพริก ที่ใครมาก็มักจะมีประดับโต๊ะ
ถ้าชอบแนวแปลก แนะนำให้ลองก๋วยเตี๋ยวใต้โรงงิ้ว เป็นร้านของป้าเล็ก ซ่อนตัวอยู่ใต้ถุนของโรงงิ้วในศาลหลักเมือง แม้จะเป็นเพียงก๋วยเตี๋ยวไก่ชามเล็ก ๆ แต่ไม่ว่าใครจะใหญ่โตมาจากไหน ก็ต้องค้อมตัวโค้งคำนับก่อนจะกิน…เพราะไม่อย่างนั้นหัวโขกเพดานแน่!!

ถนนนางงาม_MG_1107
เพียงไม่กี่สถานที่เวลาวันนี้ก็หมดลง เราก็ตั้งตารอคอยภาพสนุก ๆ จากน้อง ๆ ที่ไปถ่ายตามมุมต่าง ๆ สวนสัตว์สงขลากับสงขลาอควาเรียมก็น่าสนใจ มาทีไรไม่เคยได้ไปถึง บางกลุ่มได้ไปตามรอยหลวงปู่ทวด ตามจุดต่าง ๆ ในบันทึกประวัติศาสตร์ บางกลุ่มได้ไปตามรอยพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 และมีกลุ่มหนึ่งได้ขึ้นไปสูงกว่าระดับน้ำทะเล 2 พันฟุต ไปชมเมืองสงขลาจากยอดเขาตังกวน ซึ่งครั้งหนึ่งผมเคยไปเยือน ภาพศาลาพระวิหารแดงบนเขาตังกวนยังคงอยู่ในความทรงจำของผมอยู่เลย
หลังจากได้ตระเวนบันทึกความสวยงามและความสนุกสนาน เราใช้เวลาอีกแทบทั้งคืนในการเรียบเรียงเรื่องราว โดยให้น้อง ๆ เป็นคนคิดและลงมือเอง นอกจากเรื่องเครื่องมือที่ยากเกินไป จะมีครูฝีมือชั้นเซียนมาช่วยเป็นระยะ ๆ

เช้าวันถัดมาน้อง ๆ ต้องนำเสนอทั้งภาพถ่าย คำบรรยาย และหนังสั้น เสียงปรบมือ เสียงหัวเราะ และรอยยิ้มปรากฏอยู่ตลอดเวลา ราวกับไม่ได้ผ่านการอดนอนมาอย่างหนัก
“พี่บอกเลย ว่าพี่ดูแล้วอยากไปแบบที่น้องไปบ้าง” “น้องเห็นมุมนี้ได้ยังไง ไหนเล่าให้พี่ฟังหน่อยว่าถ่ายมาได้ยังไง” “เฮ้ย!!! คำน้องมันจริง…และเจ๋งมาก รู้ไหม” และอีกหลายคำอุทานผสานคำชื่นชมหลุดลอดออกมาเป็นระยะ ๆ “น้องมีแววมาก พี่บอกเลย”
ความสุขที่ได้พบเพื่อนใหม่ ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ร่วมกัน ทำให้หลายคนยังไม่อยากลากลับไปยังจังหวัดอันห่างไกล ส่วนพี่ ๆ ที่ดั้นด้นมาไกลกว่าก็รู้สึกผูกพันไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

“สักวันเราจะได้เจอกันอีก…ตั้งใจเดินทางนะ…พี่จะรอ”

 

ติดตามผลงาน โครงการเยาวชนรักบ้านเกิด โดย สศร.
ได้ที่ fb page / รักบ้านเกิด สศร.

mktevent
No Comments

Post a Comment