Top

Editor’s Talk

Editor’s Talk

ในช่วงที่อากาศร้อนเข้าขั้นระอุ บังเอิญผมดันไปเห็นข้อมูลบางอย่างที่ทำให้ผมร้อนอกร้อนใจไม่แพ้อุณหภูมิของอากาศ ข้อมูลที่ว่ามาจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติที่เรารู้จักกันในชื่อย่อว่า ‘FAO’ ที่เขาออกมาคาดการณ์กันแบบชัดเจนฟันธงว่า

“ในปี 2050 จำนวนประชากรของโลกอาจจะเพิ่มขึ้นถึง 9,000 ล้านคน ทำให้โลกเดินหน้าเขาสู่วิกฤติการขาดแคลนอาหารอย่างแท้จริง และมีความเสี่ยงอย่างมากที่มนุษย์จะเผชิญภาวะความอดอยากอย่างร้ายแรง”

ได้รู้เห็นดังนั้นจึงถึงบางอ้อทันทีว่า ทำไมในปัจจุบันเรื่องของอาหารจึงเป็นเรื่องที่คนทั่วโลกพูดถึงกันอย่างมาก ตลาดสินค้าอาหารล่วงหน้ามีมูลค่าราคาที่พุ่งขึ้นสูง และไม่เพียงเท่านั้นมันยังเป็นเรื่องสำคัญกระทั่งว่างานมหกรรม ‘Expo Milano 2015, Italy’ ยังต้องนำเรื่องการขาดแคลนอาหารไปตั้งเป็นธีมงานที่ว่า ‘Feeding the Planet, Energy for Life’

นอกจากในภาพใหญ่ระดับมหกรรมโลกแล้ว ประเด็นอาหารนี้ยังปลุกคนในสังคม สร้างเป็นกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งขึ้นในสังคม ที่เราเรียกว่ากลุ่ม ‘Freeganism’

Freeganism คืออะไร? อธิบายอย่างเร็ว ๆ ให้เข้าใจก็คือ กลุ่มคนชั้นกลางรุ่นใหม่ผู้ต่อต้านความเชื่อแบบวัตถุนิยม (Materialism) และประกาศเจตนารมณ์ในการใช้ทรัพยากรที่จำกัดอย่างคุ้มค่า เหล่าฟรีแกนทั้งหลายจึงต่อต้านแบรนด์สินค้าที่ชอบปลุกเร้าให้คนซื้อสินค้ารุ่นใหม่เกินจำเป็น พวกเขาซ่อมของได้ด้วยตัวเอง ซ่อมเสร็จบางครั้งใช้เอง หรือไม่ก็แชร์ให้ผู้ขาดแคลนในสังคมได้ยืมไปใช้บ้าง

แต่เมื่อภาวะวิกฤติ อาหารกลายเป็นเรื่องสำคัญ บริบทของ Freeganism จึงถูกขยายออกไปยังเรื่องอาหาร และวิธีที่พวกเขาเลือกก็คือ การนำอาหารสภาพดีไม่เน่าเสีย เพียงแต่เลยวันระบุในฉลาก Best Before  จากการถูกทิ้งจำนวนเป็นตัน ๆ มาจากซูเปอร์มาร์เกต มาประกอบอาหารทานอีกครั้ง

ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเมื่อ Freeganism ได้ของเหล่านี้มา ก็มักจะนำไปปรุงกินเอง รวมถึงนำไปแจกจ่ายต่อให้แก่ผู้ยากไร้ที่หิวโหยในสังคม หรือบางคนอาจจะเปิดร้านอาหารที่ใช้วัตถุดิบเหลือทิ้งนี้มาปรุงอาหารราคาถูกให้คนจรจัดสามารถรับประทานกันได้ตามอัตภาพ ก่อเกิดเป็นสังคมแห่งการแบ่งปัน (Sharing) ที่งดงาม

ทำในวันนี้ฟรีแกนกำลังกลายเป็นเทรนด์ใหม่ที่น่าจับตาในโลก ดังนั้นจงอย่าเข้าใจผิดหากคุณจะเห็นคนชั้นกลางแต่งตัวดี ๆ ไปยืนคุ้ยในถังขยะหลังซูเปอร์มาร์เกตยามค่ำคืนในมหานครใหญ่ของโลกอย่างนิวยอร์กหรือลอนดอน พวกเขาไม่ใช่คนจรจัดที่เรียกว่า ‘Dumpster’ ซึ่งตอนนี้เทรนด์ดังกล่าวกำลังแพร่กระจายไปยังประเทศพัฒนาอีกหลายประเทศทั้งจีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เยอรมนี สวีเดน เกาหลี นั่นเอง

ในบรรทัดสุดท้ายผมจึงอยากเน้นถึงความสำคัญในทุกคำของอาหาร เพราะยังมีพี่น้องร่วมโลกของเราอีกหลายพันล้านคนที่อดอยากอย่างร้ายแรง ซึ่งหากเราไม่ลุกขึ้นมาทำอะไรบ้างอย่างที่ชาวโลกเขากำลังทำกันอยู่ในงาน Expo Milano 2015, Italy หรืออย่างกลุ่ม Freeganism ทำกันแล้ว ในปี 2050 เราจะอยู่กันอย่างไร คงไม่สามารถจินตนาการได้

 

บุญเอก อรุณเลิศสันติ

บรรณาธิการ

Boonake888@gmail.com

mktevent
No Comments

Post a Comment