Top

The Man who Made Google’s Power in Thailand

The Man who Made Google’s Power in Thailand

The Man who Made Google’s Power in Thailand

 

เราคงไม่ต้องเสียเวลาอารัมภบทเพื่อแนะนำชายหนุ่มที่ชื่อ ‘อริยะ พนมยงค์’ อีกแล้ว เพราะเชื่อว่าหากคุณเป็นคนที่อยู่ในแวดวงธุรกิจที่ถูกผลักดันด้วยเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต คงต้องรู้จักชายผู้นี้เป็นอย่างดีในฐานะ ‘หัวหน้าฝ่ายธุรกิจ’ ของ Google ยักษ์ใหญ่ในวงการอุตสาหกรรมเสิรช์เอนจิ้น เมื่อองค์กรนี้ริเริ่มการสร้างสำนักงานใหญ่ในประเทศไทย

โดยบทบาทการทำงานที่เขาได้รับก็คือหน้าที่ในการกำกับด้านงานขายและการพัฒนาความร่วมมือกับพันธมิตรในภาคส่วนต่าง ๆ ของประเทศไทย

ตลอด 4 ปีของการดำรงตำแหน่งสำคัญดังกล่าว อริยะได้ใช้ความรู้ที่สั่งสมมานานกว่า 14 ปีในวงการโทรคมนาคม ซอฟต์แวร์ สอดประสานเข้ากับกลยุทธ์ทางการตลาดอันทันสมัย สร้างความสำเร็จให้แก่ Google ประเทศไทยมาจนนับไม่ถ้วน

“ต้องท้าทายตัวเองไปเรื่อย ๆ หยุดไม่ได้ ซึ่งประเด็นสำคัญที่สุดในตอนนี้ก็คือเราจะทำอย่างไรให้บริการของ Google แพร่หลายและเข้าไปสู่ผู้บริโภคให้มากที่สุด”

เขายืนยันหนักแน่นกับเราในระหว่างการสนทนาที่ได้เปิดโอกาสให้ MKT Event สัมภาษณ์แบบใกล้ชิดในบ่ายวันหนึ่งที่ห้องสวนลุม ภายในสำนักงานของ Google ประเทศไทย

ไม่ใช่เพียงแค่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในรอบ 4 ปีที่ผ่านไปเท่านั้น เรายังพูดคุยกับเขาอีกหลายเรื่องทั้งโปรเจคใหม่ ๆ ของกูเกิ้ลที่มีส่วนเข้าไปสนับสนุนโปรเจคด้านการศึกษา รวมถึงการเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการสร้างผู้ประกอบการกลุ่มสตาร์ทอัพ (Startup)  ในประเทศไทยในขณะนี้ และอีกมากมายหลายเรื่องที่เรามิอาจเล่าได้หมด ถูกอัดแน่นครบถ้วนอยู่ในบทสัมภาษณ์ที่คุณกำลังจะได้อ่านต่อไปนี้

 

MKT Event : 4 ปีของการเกิดขึ้นของ Google ประเทศไทย สังคมไทยในวันนี้กับวันนั้นมีความเปลี่ยนแปลงสำคัญอะไรเกิดขึ้นบ้างในสายตาคุณ

อริยะ : ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญนั่นคือสถานการณ์ทางการตลาดที่เปลี่ยนไป เพราะวันนี้จำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้นกว่าเมื่อ 4 ปีที่แล้วถึง 3 เท่า ซึ่งถ้าจะเจาะลึกลงไปอีกก็คือจำนวนกว่า 45 ล้านคนที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตผ่านมือถือ เพราะด้วยเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่ดีขึ้น และตัวของ Device เองมีคุณภาพดีแต่ราคาถูกลง ก็ยิ่งทำให้โมบายล์และดิจิตอลกลายเป็นสื่อหลักอันดับสองรองจากสื่อทีวีไปแล้ว นี่คือเรื่องสำคัญที่ทั้งเราและนักการตลาดต้องรู้ว่าโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว และ Mobile Internet คือสื่อที่เป็น Game Changer ที่สำคัญแห่งยุคสมัย

MKT Event : เกมที่เปลี่ยนไปในยุคดิจิตอลอย่างที่คุณว่าจะชักพาประเทศไทยไปสู่อะไร

อริยะ : ในสถานการณ์แบบนี้ก็ผลักดันให้ประเทศไทยมีสถานะกลายเป็น ‘Mobile First Country’ นั่นหมายความว่าประสบการณ์ครั้งแรกของคนเข้าอินเตอร์เน็ตส่วนใหญ่วันนี้คือเชื่อมต่อผ่านสมาร์ทโฟน แล้วก็บอกได้เลยมีอย่างน้อย ๆ 10 ล้านคนไม่เคยเข้าอินเตอร์เน็ตผ่านคอมพิวเตอร์ ก็ยิ่งทำให้เทรนด์ของโมบายดิจิตอลเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แล้วหากในปีนี้การประมูล 4G เสร็จก็จะทำให้ทุกอย่างมันเติบโตเร็วมากขึ้นไปอีก

MKT Event : ประเด็นนี้ถือเป็นความท้าทายในวันนี้ของ Google ประเทศไทยใช่ไหม

อริยะ : ใช่ครับนี่คือสถานการณ์ที่ทั้งผมและทีมงานกำลังประเมินอย่างเข้มข้น และพยายามปรับรูปแบบองค์กร รวมถึงการสร้างนวัตกรรมต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงนี้ให้ได้อย่างลงตัวที่สุดแม้ว่าเราจะเป็นเบอร์หนึ่งในอุตสาหกรรมเสิร์ชเอนจิ้น แต่เราก็ต้องท้าทายตัวเองไปเรื่อย ๆ หยุดไม่ได้ ซึ่งประเด็นสำคัญที่สุดในตอนนี้ก็คือเราจะทำอย่างไรให้บริการของ Google แพร่หลายและเข้าไปสู่ผู้บริโภคให้มากที่สุดทั้ง Google และ Youtube รวมถึงการสร้างช่องทางในการกระจายคอนเทนต์รูปแบบต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ทั้งในแง่ของการสร้างสื่อเพื่อการศึกษา การสร้างฐานความรู้เพื่อสนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจ SME และกลุ่ม Startup

MKT Event : อยากให้คุณพูดถึงการสร้างสื่อเพื่อการศึกษาให้ฟังหน่อยว่ามีรูปแบบอย่างไร

อริยะ : ในช่วงระยะเวลา 2 ปีหลัง เราได้มีการร่วมมือกับสถาบันการศึกษาทั้งโรงเรียนประถมและมหาวิทยาลัยหลายแห่ง เพื่อเปิดโอกาสให้สถาบันการศึกษาเหล่านั้นได้ลองใช้งานแอพลิเคชั่นที่ชื่อ ‘Google For Education’ แบบฟรี ๆ ไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งแอพลิเคชั่นนี้จะรวมเอาการใช้งานแบบ Document, การสร้างพรีเซนเทชั่น และ VDO Conference เพื่อให้สามารถสร้างการเรียนการสอนผ่านอินเตอร์เน็ต นั่นทำให้สถานศึกษาทั้งหลายสามารถสร้างช่องทางทางการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถกระจายความรู้เหล่านี้ได้ไกลออกไปเกินกว่าจะถูกจำกัดเพียงในห้องเรียนเท่านั้น

MKT Event : ในส่วนของผู้ประกอบการ SME และ กลุ่ม Startup ทาง Google และคุณมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาคนกลุ่มนี้แบบใด

อริยะ : อธิบายในมุมมองแบบง่าย ๆ ก่อน คือคุณจะหาลูกค้า หรือคุณจะขยายตลาดจากกรุงเทพไปทั่วประเทศ และไปต่างประเทศ มันไม่มีช่องทางไหนที่คุ้มค่ากว่าอินเตอร์เน็ตอีกแล้ว นอกจากนี้มันยังมีกลุ่มหนึ่งภายใต้ SME ที่น่าสนใจนั่นคือกลุ่มของ Apps Developer และกลุ่ม Startup ถ้าเริ่มจากแอพฯ ก่อน คำหนึ่งที่ผมใช้ก็คือ ‘Apps Economy’ ยกตัวอย่างเวลาเรานึกถึงการส่งออก เราจะนึกถึงอุปสรรคเยอะแยะมากมาย เช่น ต้องขอใบอนุญาต ต้องขนส่ง ระบบการจ่ายเงิน ระบบโลจิสติกส์อะไรต่ออะไรอีกมากมาย แต่ในโลกของ Apps Economy มันไม่มีอุปสรรคพวกนี้เลย มันคือโลกแห่งความเท่าเทียมที่ใคร ๆ ก็มีโอกาสทำได้ ถ้าคุณเป็นผู้ผลิตแอพลิเคชั่นแล้วคุณสามารถเอาแอพลิเคชั่นของคุณกระโดดไปอยู่บนแอนดรอยด์มาร์เกตหรือบนแอพสโตร์ได้ คุณก็สามารถบุกตลาดโลกได้ทันที ทั้งยังไม่ต้องเสียเวลายุ่งยากกับขั้นตอนที่น่าปวดหัวทั้งหมด

MKT Event : สตาร์ทอัพไทยที่ประสบความสำเร็จในสายตาคุณมีใครบ้าง

อริยะ : ถ้าเราพูดถึงกลุ่มสตาร์ทอัพและผู้ผลิตแอพลิเคชั่นประเทศไทย เรามีคนเก่งเยอะมาก ตัวอย่างที่ผมมักจะชอบยกขึ้นมาคนหนึ่งก็คือเจ้าของ ‘Kiragames’ เขาทำเกมที่ชื่อ ‘Unblock Me’ มีคนดาวน์โหลดเกมเขาไป 100 ล้านครั้ง หรือผู้ผลิตแอพลิเคชั่นที่ชื่อ ‘Tammkru’ ซึ่งเป็นแอพลิเคชั่นที่เน้นเรื่องการศึกษาของเด็กที่ชนะรางวัลอันดับ 1 ในงาน Asheron อีเว้นท์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย รวมถึงตัวอย่างอีกเยอะแยะมากมายทั้งผู้ผลิตแอพลิเคชั่น ‘Ookbee’ ที่ทำอีบุ๊คก็เหมือนกันจากเริ่มกันไม่กี่คนวันนี้เขาไม่ได้มีออฟฟิศแค่ในประเทศไทยแล้ว เขาสามารถสร้างฐานได้ทั้งใน มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ นี่คือ Success Story ของสตาร์ทอัพไทยที่ประสบความสำเร็จทางด้านแอพลิเคชั่น

MKT Event : ทาง Google ได้ตระเตรียมเครื่องมืออะไรให้แก่คนกลุ่มนี้เพื่อใช้สร้างความสำเร็จ

อริยะ : เราก็มีงานที่เราจะจัดให้พวก Apps Developer อย่างต่อเนื่อง มีทีมหนึ่งที่ดูแลคนกลุ่มนี้ เป็นการช่วยและให้คำปรึกษากับเขาในการริเริ่ม เรื่องที่สองก็คือระบบของเรามันส่งเสริมคนกลุ่มนี้อยู่แล้ว การสร้างตลาดค้าแอพลิเคชั่น เราก็สร้างมาเพื่อเขา ซึ่งขณะเดียวกันทาง Google ประเทศไทยเองก็ได้เป็นพารท์เนอร์กับโอเปอร์เรเตอร์มือถือทั้ง 3 ค่ายในการจ่ายเงินซื้อแอพฯ ใน ‘Playstore’ ให้คุณสามารถจ่ายผ่านบิลมือถือของคุณได้ เพราะฉะนั้นตรงนี้มันเป็นการเปิดช่องทางให้ผู้บริโภคสามารถทำการจ่ายเงินได้อย่างสะดวกนอกเหนือจากการจ่ายด้วยบัตรเครดิต ยิ่งง่ายขึ้นเงินก็จะเข้าไปหา Apps Developer ได้รวดเร็วขึ้นนั่นเอง ในท้ายที่สุดเมื่อสตาร์ทอัพสามารถประสบความสำเร็จกลายเป็นหน้าตาประเทศไทยได้ เขาก็จะกลายเป็นโรลโมเดลที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจดึงให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจกับธุรกิจบนโลกดิจิตอลกันมากขึ้น ซึ่งส่งผลดีกับการสร้างฐาน Digital Economy ของประเทศไทย

MKT Event : สิ่งที่ Google ประเทศไทยทำนี้มันย้อนกลับมาเป็นผลประโยชน์ทางธุรกิจแก่องค์กรได้ในแง่ไหน

อริยะ : ผมเรียนตามตรงเรายังไม่ได้คาดหวังผลในการทำธุรกิจ แม้ว่าเราจะเป็นองค์กรก็ตาม แต่ว่าถ้ามองลงไปเนื้อหาของความเป็น Google ประเทศไทย ในฐานะเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนี้ ถ้าเราสามารถช่วยอะไรประเทศไทยได้บ้าง เราก็ยินดีที่จะช่วย คุณดูก็ได้เทคโนโลยีด้านการศึกษาทุกอย่างคุณใช้ฟรีหมด เราไม่ได้อะไรเลย และในส่วนที่เป็นกลุ่มพวก Apps Developer หรือว่าสตาร์ทอัพ ตรงนี้แพลตฟอร์มต่าง ๆ ของ Google ก็มีพร้อมให้ใช้ฟรี

MKT Event : ในความรู้สึกของผมกลับมองว่าการให้ใช้ฟรีมันยิ่งทำให้มูลค่าแบรนด์ของ Google เพิ่มขึ้น

อริยะ : อืม(คิดนาน) ผมว่ามันคงต้องกลับไปที่มิชชั่นเริ่มแรกของ Google ตอนที่ Larry Page กับ Sergey Brin เริ่มก่อตั้งเมื่อเกือบ ๆ 17 ปีที่แล้ว เขาทั้งสองตั้งโจทย์ไว้เลยว่าทำยังไงให้ Google จัดสรรข้อมูลในโลกอินเตอร์เน็ตและทำให้ผู้คนเข้าถึงข้อมูลตรงนี้ได้ทั่วโลก รวมถึงความเชื่อที่ว่าอินเตอร์เน็ตจะทำให้ชีวิตคนเราดีขึ้น สามารถสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในสังคม นี่คือสิ่งที่เป็นปณิธานเริ่มแรกที่ผมและทีมงานนำมาเป็นแนวทางในการสร้างนวัตกรรมให้แก่ประเทศไทยในวันนี้

MKT Event : คุณรู้สึกอย่างไรกับสังคมสตาร์ทอัพที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ณ ขณะนี้

อริยะ : ผมดีใจที่เห็นคนรุ่นใหม่ที่มารวมตัวกันสร้างสภาพแวดล้อมทางสังคมที่ทุกคนช่วยกันหมดไม่มีใครแข่งกัน เพราะอยากให้นิเวศวิทยาทางสตาร์ทอัพประเทศไทยมันบูม จริง ๆ อย่างที่ผมเรียนไปเมื่อกี้เราก็มีคนเก่ง ๆ อีกหลายคนเยอะแยะมากมาย เงินทุนไม่ใช่สิ่งที่ขาดในวันนี้

MKT Event : แล้วเงินสนับสนุนเหล่านั้นต้องหาจากไหน

อริยะ : มันอยู่ในรูปแบบของ Crowd Funding และ Venture Capital (VC) ก็คือมันเหมือนเป็นกองทุนรูปแบบหนึ่งที่เน้นในการลงทุนกับสตาร์ทอัพ เพราะฉะนั้นบอกได้เลยว่าเงินมีอยู่แล้ว แล้วก็มี VC ทั้งของไทยและต่างประเทศที่กำลังมอนิเตอร์ดูว่าใครจะเป็น The Next Google, The Next Line คนต่อไปที่จะครองตลาดโลกได้ถ้าของคุณเจ๋งพอเขาก็พร้อมจะลงทุนกับคุณ

MKT Event : สภาพแวดล้อมของไทยมันถึงพร้อมแล้วหรือที่จะมีพื้นที่สำหรับการสร้างประสิทธิภาพให้แก่กลุ่ม สตาร์ทอัพเหล่านั้น

อริยะ : สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจเกิดขึ้นในบ้านเราก็คือมันจะมีคอมมูนิตี้ของสตาร์ทอัพที่จะเจอกันบ่อย ๆ เป็นกึ่ง ๆ Training Seminar ฟังจากคนที่ประสบความสำเร็จทั้งในไทยและต่างประเทศและสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นตาม Co-Working Space  ประมาณ 40 กว่าจุดทั่วกรุงเทพ มันเหมือนเป็นพื้นที่ให้คุณทำงาน คุณมาทำงานพื้นที่เดียวกันหมดคุณจะได้เจอคนมากหน้าหลายตา ปรึกษาคนนั้นคนนี้ก็จะยิ่งได้ไอเดียจากการแลกเปลี่ยนไปพัฒนาสิ่งที่คุณทำ ซึ่งในส่วนของ Co-Working Space ก็สนับสนุนให้มีการจัดงานรูปแบบนี้อย่างต่อเนื่อง นี่เป็นอีกแรงที่ช่วยส่งเสริมการเกิดขึ้นของกลุ่มสตาร์ทอัพในบ้านเรา เป็นเทรนด์ที่เราเห็นในประเทศไทยแล้ววันนี้

MKT Event : ในสายตาคุณสตาร์ทอัพไทยยังมีจุดบกพร่องอะไรที่ต้องได้รับการพัฒนาบ้าง

อริยะ : จุดอ่อนอันที่ผมเห็นก็คือความสามารถในการเสนองานแข่งกับคนอื่น (Pitch) ทุกคนที่จะไปหา VC คุณต้องขายงานเป็นในเวลาเพียง 5-10 นาที เพื่อบอกว่าทำไมคุณต้องลงทุนกับของที่คุณผลิตขึ้น มันต้องเนื้อ ๆ ต้องโดน ฉะนั้นคุณจะไปเล่าเรื่องราวชีวิตของคุณไม่ได้ มันต้องปึ้ง ๆ ๆ ๆ เล่าเรื่องให้กระชับและน่าสนใจให้ได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันเป็นเรื่องยาก และไม่มีมหาวิทยาลัยที่ไหนสอนเรื่องนี้ แต่ก็ยังดีที่ Co-Working Space หลายที่มีจัดเวิร์คชอปให้คุณ โดยจะมีเมนเตอร์เข้ามาให้คุณลองพิทช์งาน ซึ่งแน่นอนถ้าคุณไม่ดีพอเขาจะอัดคุณเต็มที่จนกว่าคุณจะพร้อม เรื่องที่ 2 ก็คือภาษาอังกฤษ คุณจะเข้าสู่เวทีโลกคุณก็ต้องยอมรับว่าภาษาอังกฤษเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยเฉพาะเวลาคุณต้องไปเสนอโปรเจคกับ VC ต่างประเทศ ถ้าคุณพูดกับเขาไม่ได้โอกาสก็แทบจะปิดแล้ว นี่แค่สองเรื่องนะยังไม่ไปถึงเรื่องขอเงินเลย ถ้าคุณผ่านไปได้โปรเจคคุณก็มีแนวโน้มที่เขาจะสนใจ

MKT Event : พูดถึงการเสนอเนื้อหาในเวลาที่จำกัด ทำให้ผมย้อนถึงการพูดบนเวที TED X Bangkok ของคุณ วันนั้นหัวข้อที่คุณพูดคือเรื่องอะไร

อริยะ : หัวข้อที่ผมพูดคือเรื่อง “Why Not Thailand” มันเล่าจากแรงบันดาลใจของผมในวันที่ออฟฟิศ Google ประเทศไทยเปิดตัววันแรก เนื้อหาบทสรุปที่ผมอยากจะบอกคือประเทศไทยมีสิ่งดีหลายอย่างที่เราหลงลืม แต่ถ้าให้นึกถึงเรามักจะคิดถึงแต่เรื่องไม่ดี ทั้งเรื่องน้ำท่วม เรื่องความไม่เป็นระบบระเบียบในบ้านเมือง เรื่องความขัดแย้งทางการเมือง และอีกหลายเรื่องที่บั่นทอนชื่อเสียงประเทศ จนเราคิดว่ามันไม่สามารถเปิดได้ในไทย มันคงสอดคล้องกับคำถามที่เพื่อน ๆ สื่อมวลชนที่ชอบถามผมว่าทำไม Google ต้องมาเปิดออฟฟิศในเมืองไทย และผมก็จะถามพวกเขากลับไปว่าแล้วทำไมเราจะไม่เปิดล่ะ มันมีเหตุผลอะไร คิดว่าประเทศไทยไม่มีดีพอเหรอ ทำไมคุณถึงไม่เชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศตัวเอง ลองมองให้ดีเรามีศักยภาพอะไรหลายอย่างที่เอื้อต่อการพัฒนาในด้านดิจิตอล รวมถึงสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเกิดความคิดสร้างสรรค์ทั้งประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตที่มีรูปแบบเฉพาะ ตรงนี้เป็นโอกาสและเป็นทรัพยากรที่ Google มองเห็น

MKT Event : นอกจากเนื้อหาที่คุณพูดในวันนั้น คุณได้พบเห็นเรื่องราวดีๆ อะไรเพิ่มเติมบ้างใน TED X Bangkok

อริยะ : ผมพบว่าประเทศไทยมีคนรุ่นใหม่ที่เก่งและมีความคิดสร้างสรรค์อีกมากมาย มันเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ เพราะคนรุ่นเราอาจจะเปลี่ยนไม่ได้ แต่คนรุ่นใหม่เขาคืออนาคตเพราะฉะนั้นเขาเปลี่ยนได้ เพียงแค่สังคมเปิดโอกาสให้เขาเถอะ และอีกมุมหนึ่งที่ผมพยายามชี้ให้เห็นว่าวันนี้ที่เรากำลังพูดถึงสตาร์ทอัพ อาจจะหมายความว่าคุณกำลังพูดถึงกลุ่มที่เรียกว่าเด็กก็ได้หรือกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อายุน้อยกว่าผม คุณ และอีกหลาย ๆ คน ที่เขาอาจจะเป็นคนสอนคุณว่าในอนาคตจะทำธุรกิจแบบสตาร์ทอัพจะทำอย่างไรเพราะฉะนั้นเราต้องเปิดใจที่จะยอมรับ

MKT Event : นั่นหมายความว่าคุณเชื่อพลังการเปลี่ยนแปลงสังคมของคนรุ่นใหม่ ที่หลายคนมักจะดูแคลนใช่ไหม

อริยะ : ใช่(ตอบเร็ว) ผมเชื่อมากด้วยว่าพลังของเขาสามารถสร้างบริบทใหม่ในสังคมได้อีกเยอะ มากกว่านั้นผมอยากให้ผู้ใหญ่เลิกใช้คำว่า “น้อง” เวลาคุยกับคนที่อายุอ่อนกว่า เพราะเมื่อใดก็ตามที่คุณเริ่มต้นเรียกเขาว่าน้อง นั่นหมายความคุณกำลังกดเขาให้ต่ำกว่าคุณอยู่ แค่เขาอ้าปากคุณก็มีความคิดในใจ คุณสร้างกำแพงว่าคุณจะเป็นผู้สอนเขาแล้ว ผมเพียงอยากให้คุณฟังสิ่งที่เขาจะพูดก่อนอย่าเพิ่งคิดที่จะสอนเขา เพราะวันนี้เราอยู่ในยุคสมัยที่เขาอาจจะเป็นคนสอนเราได้ซึ่งอันนี้มันคือโลกของสตาร์ทอัพ สุดท้ายเขาอาจเป็นคนที่เก่งกว่าเราด้วยซ้ำ บางคนประสบความสำเร็จมากกว่าผมอีกฉะนั้นผมก็ต้องนับถือและยกให้เขา เพียงแต่คุณต้องเริ่มต้นด้วยความเชื่อแบบผมก่อนเท่านั้นครับ

 

Text : Boonake A.

Photo : Wiriya L.

 

mktevent
No Comments

Post a Comment