Top

Happiness Life at The Museum

Happiness Life at The Museum

อากาศชื้น ๆ เย็น ๆ กับย่ำค่ำหลังเลิกงานนั้นช่างเหมาะกับอารมณ์สุนทรีย์

คอลัมน์ Rest ฉบับสุดท้ายปลายปี 2558 จึงชวนท่านไปทอดอารมณ์ชมนิทรรศการที่น่าสนใจกัน

รื่นรมย์ชมอดีตในนิทรรศการ “แผ่นดินไทยในอดีต, Thailand’s Past” 

 นิทรรศการนี้ดีอย่างไร?

อันดับแรกขอบอกก่อนเลยว่า สิ่งที่ทำให้ผู้เขียนตื่นตาใจจากข่าวคือรูปของศิลปวัตถุที่นำมาจัดแสดง แต่ละชิ้นต้องบอกว่า ‘ระดับดารา’ ทั้งนั้น เพราะเป็นศิลปวัตถุที่เรามักจะเห็นจนชินตาตามหนังสือเรียน หนังสือประวัติศาสตร์ราคาแพง หรือการโฆษณาประชาสัมพันธ์ระดับประเทศ แต่ไม่เคยเห็นของจริง แค่เทวรูปพระโพธิสัตว์ศิลปะศรีวิชัยที่เราคุ้นตานั้น ก็คุ้มมากเหลือเกินแล้ว

2015-10-08-09.58

อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ สถานที่จัดแสดงนั้นผู้เขียนคุ้นเคยดี “พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน” ในพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) หรือที่เรารู้จักกันดีว่าเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เดิมเป็นนิทรรศการประวัติศาสตร์ไทยอยู่แล้ว แต่จัดแสดงแบบเดิม ๆ มาไม่ต่ำกว่า 20 ปี

มาคราวนี้มีการปรับปรุงใหม่ทั้งหมด โดยให้มีการปรับให้พระที่นั่งศิวโมกขพิมานคงความเป็นสถาปัตยกรรมเดิมสมัยแรกสร้าง และจัดนิทรรศการโดยเน้นการสื่อความหมายตามช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ แค่สองประการนี้ก็เพียงพอต่อการเดินทางไปชมแล้ว

 

เมื่อเดินเข้าโถงพระที่นั่ง ภาพที่เห็นเบื้องหน้า ก็ให้ตื่นเต้น ตื้นตันได้ทันที

โถงกลาง เรากำลังเดินผ่านธรรมจักรหินของอาณาจักรทวารวดีในพุทธศตวรรษที่ 13-14 ถัดมาเป็นเทวรูปหินแกะสลักศิลปะขอมในประเทศไทยอย่างละโว้ แล้วตรงกลางนั่นเป็นพระเอกแห่งยุคก่อนประวัติศาสตร์ไทย เทวรูปสำริดอวโลกิเตศวร รูปร่างอ่อนช้อยและมีเพียงครึ่งองค์

2015-10-08-10.26

การจัดแสงเพื่อสื่อความหมายและแสดงศิลปวัตถุในนิทรรศการคราวนี้นั้น กล่าวได้ว่ามีความเป็นสากลขึ้นมาก จนผู้เขียนแอบได้ยินผู้เข้าชมบางท่านรำพึงว่า

“งามราวเดินอยู่มิวเซียมเมืองนอกทีเดียว”

พ้นทับหลังของปราสาทหินมา ที่ตั้งเด่นสง่ากลางห้องโถงพอดี ราวกับเป็นสัญลักษณ์ว่านี่คือศูนย์กลางของยุคประวัติศาสตร์ไทย, การมีอักษรไทยครั้งแรก ‘ศิลาจารึกหลักที่ 1’ ทำหน้าที่เป็นเส้นแบ่งยุคก่อนประวัติศาสตร์และยุคประวัติศาสตร์ออกจากกันอย่างลงตัว ดังนั้นหลังหลักศิลาจารึก ท่านก็จะได้พบกับศิลปวัตถุงดงามชวนหลงใหลของสุโขทัย ความร่ำรวยรุ่งเรืองของอาณาจักรอยุธยา และจบด้วยศิลปะชั้นสูงของกรุงรัตนโกสินทร์2015-10-08-10.11

 

นอกจากนี้ รอบพระที่นั่งยังมีศิลปวัตถุขนาดกลางและขนาดเล็กที่ไม่มีทางได้เห็นที่ไหนง่าย ๆ ให้เดินชมเพลินอีกด้วย นิทรรศการ “แผ่นดินไทยในอดีต, Thailand’s Past” นี้ ไม่ว่าคนไทยคนไหน, ก็ไม่ควรพลาดจริง ๆ

นิทรรศการนี้ไม่ใช่นิทรรศการถาวรเพราะศิลปวัตถุที่จัดแสดงนั้นมีค่ามากมายอันประเมินมิได้ จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ได้คำตอบว่าน่าจะมีการจัดแสดงไปจนถึงราวต้น ๆ ปีหน้าเท่านั้น  ดังนั้นก่อนสิ้นปีนี้หรือช่วงหลังปีใหม่เล็กน้อยเป็นเวลาที่เหมาะสมอย่างยิ่งที่ท่านผู้อ่านทุกท่านจะไปเยี่ยมชมรื่นรมย์สุนทรีย์กับประวัติศาสตร์อันงดงามรุ่งเรืองของชาติไทยกัน

นอกจากนี้ นิทรรศการอื่น ๆ ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติก็มีการจัดแสดงอย่างต่อเนื่อง เช่น นิทรรศการ ‘วิจิตรภูษาพัสตราภรณ์’ ที่จัดแสดงผ้าทอ เครื่องทรง ตลอดจนฉลองพระองค์ของพระมหากษัตริย์และเจ้านาย ให้ท่านผู้อ่านแวะชมเพื่อความเพลิดเพลินและเสริมสร้างความรู้กันอีกด้วย

    MKTEvent#18-P64-65-Rest-4

Black and White Thai*Land*Scape 2015

สำหรับท่านผู้อ่านที่ทำงานย่านกลางเมือง และไม่สะดวกเดินทางห่างเส้นทางรถไฟฟ้าไปไกล เราก็มีนิทรรศการศิลปะที่น่าสนใจของศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร แถวศูนย์การค้าสยามมาบอกกล่าวกัน

นิทรรศการนี้เป็นนิทรรศการภาพถ่ายขาวดำระดับวิจิตรศิลป์ ที่ชื่อ ‘Black and White Thai*Land*Scape 2015’

โดยจัดแสดงภาพถ่าย Landscape ของสถานที่ต่าง ๆ ในเมืองไทยผ่านมุมมองภาพถ่ายแบบขาวดำที่เน้นแสงและเงา โทนและอารมณ์ของภาพมากกว่าสีสัน เหมาะกับเวลาว่าง ๆ ที่เราอยากจะปล่อยใจปล่อยจินตนาการดำดิ่งไปกับรูปถ่ายของสถานที่ต่าง ๆ ที่ศิลปินตั้งใจจะนำเสนอ

งานศิลปะภาพถ่ายขาวดำ Black and White Thai*Land*Scape 2015 เป็นงานแสดงภาพถ่ายของครูและนักเรียนจาก ‘CameraEyes School’ จัดแสดงภาพถ่ายขาวดำแบบไฟน์อาร์ต ทำการอัดขยายอย่างประณีตกว่า 40 ภาพ

ทั้งนี้ยังมีแขกพิเศษที่วงการศิลปะภาพถ่ายขาวดำรู้จักกันดี คือ ‘น้าชำ’ ชำนิ ทิพย์มณี มาเป็นแขกรับเชิญในงานด้วย

งาน Black and White Thai*Land*Scape 2015 จะจัดขึ้นในวันที่ 3 – 15 พฤศจิกายน  พ.ศ. 2558 ที่ศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร เป็นอีกงานที่จัดขึ้นในช่วงปลายปีนี้ที่เราไม่อยากให้ท่านผู้อ่านพลาดด้วยประการทั้งปวง

นอกจากการได้มองดูภาพถ่ายขาวดำสวย ๆ อาร์ต ๆ ท่านผู้อ่านอาจจะได้รับแรงบันดาลใจในการเดินทางท่องเที่ยวเผื่อหาความท้าทายใหม่ ๆ มุมมองใหม่ ๆ จากนิทรรศการนี้ก็เป็นได้

 

mktevent
No Comments

Post a Comment