Top

Creative Move

Creative Move

ธนบูรณ์ สมบูรณ์

ชีวิตที่สร้างสรรค์เพื่อสังคม

ยังไม่ทันที่เราจะยิงคำถามแรก ‘เอซ-ธนบูรณ์ สมบูรณ์’ ครีเอทีฟไดเรคเตอร์และผู้ก่อตั้งเว็บไซต์สร้างสรรค์อย่าง PORTFOLIO*NETและ CreativeMOVE ดักคอเราไว้ก่อนเลยว่า เขาเคยให้สัมภาษณ์และตอบมาหมดแล้วว่าประวัติเขาคือใคร เรียนจบที่ไหน ทำอะไรมา นั่นแปลได้ว่า เขาจะไม่ตอบเรื่องชีวประวัติของเขาอีกแล้ว

โชคดีที่คำถามเหล่านั้นไม่ได้อยู่ในลิสต์ของเราเช่นกัน เพราะเราตั้งใจมาคุยกับเขาด้วยอยากรู้อยากเห็นในประเด็นเบื้องหลังงานครีเอทีฟเท่ ๆ แคมเปญรณรงค์เจ๋ง ๆ และการรวมตัวกันของคนรุ่นใหม่ ๆ จนเกิดเป็นผลลัพธ์ดี ๆ ที่สร้างประโยชน์แก่สังคม เขาทำให้มันเกิดขึ้นได้อย่างไรมากกว่า

แม้เราจะไม่ถามถึงประวัติ ไม่ชวนคุยถึงงานถ่ายภาพ แต่เราก็อยากรู้จักความชอบและตัวตนของเขาก่อนเริ่มแรก 

“ผมชอบทำอะไรที่มันยังไม่มีคนทำ เพราะทำแล้วสร้างสรรค์ อยากทำงานสังคมให้มันน่าสนใจ และเกิดอิมแพคจริง ๆต้องเป็นอะไรที่เท่แล้วกินได้ มันจะมีพวกเท่แล้วกินไม่ได้ โปรเจคเอาเท่เอาดัง สื่อเยอะ รู้จักเยอะ แต่คนที่ได้ความช่วยเหลือมันน้อย อันนั้นไม่ทำ ผมก็เป็นแบบนี้ตั้งแต่เด็ก ๆ แล้ว เวลาทำโปรเจคสมัยเรียนก็ต้องทำอะไรที่ยังไม่มีใครทำหรือทำอะไรอย่างหนึ่งขึ้นมาด้วยวิธีการใหม่ ให้มันดีขึ้น ซึ่งตอนนั้นเราไม่รู้หรอกว่ามันเรียกว่านวัตกรรม”

นั่นคือชอบ “ความแตกต่าง” ใช่ไหม เราถามเขาต่อ

“ก็อาจจะใช่ เมื่อก่อนอยากทำอะไรก็ทำ และอยากทำให้ไม่เหมือนคนอื่น อย่างตอนถ่ายภาพ ทำยังไงให้เป็นตัวเรา ให้เป็นแนวเรา ไลท์ติ้งแบบเรา เล่าเรื่องแบบเรา พอมาทำงานด้านครีเอทีฟเราก็มองว่าทำยังไงให้คนอื่นได้ประโยชน์มากที่สุด สิ่งที่ครีเอทีฟมูฟทำคือสร้างสรรค์สุด ๆ ให้คนชอบมากที่สุด เรามองสองทาง ต้องสร้างสรรค์ และต้องเกิดอิมแพค เกิดการตอบสนอง เป้าหมายไมได้มองว่าลูกค้าได้ประโยชน์อย่างเดียว ไม่ได้ต้องการให้สินค้าขายได้ แต่ต้องการช่วยสังคมด้วยกัน”

เขาเล่าให้เราฟังว่าในแต่ละโปรเจคมีสเกลกำหนดความรู้สึกในแต่ด้วยเกณฑ์ 0-5 เพื่อเช็ครายละเอียดว่าทำแล้วมีความสุขไหม ทำแล้วได้เงินมากไหม ทำแล้วเกิดผลอย่างไรต่อสิ่งแวดล้อม บางโปรเจคทำแล้วมีความสุขแต่มีคนได้ประโยชน์น้อย ก็ไม่ทำ พูดง่าย ๆ ก็คือ ถ้าสุดท้ายทำแล้วปลายทางไม่ได้อะไร ไม่เกิดประโยชน์อะไร เขาก็เลือกที่จะไม่ทำดีกว่า นั่นเป็นแนวทางที่เขาไล่รายละเอียดจนเรามองเห็นตัวตนของเขา

DPP_1

              คงไม่ต้องสงสัยว่า นาทีนี้ชีวิตของเขาโฟกัสอยู่ที่งานครีเอทีฟมูฟ แล้วครีเอทีฟมูฟคืออะไร นั่นคือสิ่งที่เราสงสัยใคร่รู้

                “งานครีเอทีฟมูฟไม่ได้ช่วยคนโดยตรงแต่งานของเราคือช่วยคนที่มีความตั้งใจจะช่วยคนให้สามารถช่วยคนได้มากขึ้น ในอีกทางหนึ่งเราคือองค์กรนวัตกรรมสังคมที่ประกอบขึ้นจากงานสามส่วน คือ หนึ่ง Social Innovation Design – ออกแบบพัฒนานวัตกรรม พัฒนา CSR ให้กับลูกค้า ออกแบบกิจกรรมให้เอ็นจีโอ สอง Communication – เราเป็นเอเจนซี่ที่มีชุมชนของเราเอง มีคนกดไลค์เฟซบุ๊คห้าแสน มีคนตามทวิตเตอร์แสนสอง มีคนฟอลโลว์โซเชี่ยลแคมสองแสน นั่นคือจุดแข็ง เวลาเราทำโปรเจค เรามีสื่อของเราเองด้วย เราระดมคน ระดมไอเดีย กระจายข้อมูลข่าวสารได้มากขึ้น และสาม Creative Citizen – เป็นโปรเจคที่เราโฟกัสอยู่ Creative Citizen กำลังจะเปิดตัว เป็นโปรเจคที่สร้างแรงบันดาลใจ พัฒนาศักยภาพคนที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลง และสนับสนุนให้คนทำโปรเจคของตัวเอง สนับสนุนเรื่องการหาไอเดีย พัฒนา สนับสนุนหาคนช่วยทำ สร้างคอนเนคชั่น สนับสนุนการหาเงินให้กับเขา พูดง่าย ๆ ก็คือเราต้องการสร้างครีเอทีฟดีไซน์เนอร์ให้เป็นพลเมืองสังคม คือคนที่มองสังคม ไม่ได้มองแต่ตัวเอง”

สิ่งหนึ่งที่เราอยากรู้มากก็คือคนที่คิดสร้างงานเพื่อการพัฒนาสังคมมากมายหลายโปรเจค เนื้อแท้ของการใช้ชีวิตจะมีความคล้ายกับสิ่งที่เขาทำหรือไม่ เขาตอบคำถามนี้ของเราด้วยรอยยิ้ม

“ก็พยายามอยู่ครับ เช่น ลดการใช้ถุงพลาสติก เป็นต้น เพราะอยู่ใกล้กับข้อมูลตลอด ถ้าเราจะเปลี่ยนโลกเราก็ต้องเปลี่ยนตัวเองก่อน ถ้าเปลี่ยนตัวเองไม่ได้ ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะไปบอกคนอื่นให้เปลี่ยน บางเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ก็ช่วยขับเคลื่อนสังคมได้”

              การที่คลุกคลีกับสิ่งเหล่านี้มาตลอดสามปีที่ผ่านมา บอกได้ไหมว่าสังคมต้องการความช่วยเหลือแบบไหน เรายิงคำถามเน้น

“สังคมต้องการการช่วยเหลือทุกอย่าง ผมพูดเสมอว่าคนต้องการสามอย่าง หนึ่ง – เวลา (Time) ต้องการความช่วยเหลือด้านเวลา เช่น สละเวลามาช่วยอ่านหนังสือเสียง ช่วยพาคนพิการไปหาหมอ พาคนแก่ไปเดินเล่น พาคนตาบอดวิ่ง สอง – ทรัพย์สินเงินทอง (Treasure) และ สาม – พรสวรรค์ (Talent) ซึ่งเป็นสิ่งที่เราพยายามทำมาตลอด ทำอย่างไรให้ที่ทำงานสายออกแบบใช้ความคิดความสร้างสรรค์ สร้างความเปลี่ยนแปลงได้ คนเหล่านี้อาจไม่มีเรื่องของเวลา อาจไม่มีทรัพย์สินเงินทองมากมาย แต่สามารถใช้ทักษะซึ่งมีมูลค่าสูงมาช่วยเหลือคนได้ เช่น ออกแบบโปสเตอร์ที่กระตุ้นให้คนออกมาบริจาคเลือดได้มากขึ้น”

            คงไม่สามารถปฏิเสธว่า งานอาสาสมัครกลายเป็นเทรนด์แล้วจริง ๆ น่าสงสัยว่า เขามีวิธีการหยิบจับความชอบของคนในสังคมอย่างไรจึงโดนใจคนในสังคมตลอด

  “ผมจับความรู้สึกคนอื่นโดยใช้ความรู้สึกของตัวเองเป็นหลัก แล้วจึงค่อยรีเสริช ค้นคว้าหาข้อมูล เราใช้ออนไลน์ในการมอนิเตอร์ว่าคนทำอะไรอยู่ แล้วเราก็วิเคราะห์ สิ่งที่ทำมาตลอดคือการใช้เซ้นส์ (Sense) แล้วโชคดีที่ถูก และยังไม่เคยพลาด เราก็ละเมียดระดับหนึ่ง ไปศึกษาเพิ่มเติม ดูเยอะ อ่านเยอะ”

            ในฐานะที่มีหน้าที่สร้างแรงบันดาลใจให้คนในสังคมลุกขึ้นมาทำอะไรต่อมิอะไรมากมาย เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมแล้วมองย้อนกลับมาที่ตัวเอง เขาใช้อะไรเป็นแรงกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ให้งอกงามในสมอง คำตอบที่ได้จากเขาคือวิธีอันเรียบง่ายก็คืออ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง ดูงานของคนใหม่ ๆ นิทรรศการ การประชุม สัมมนา พาตัวเองไปอยู่ในวงวิชาการที่ยาก ๆ รู้บ้างไม่รู้บ้างอย่างไรก็ขอให้ได้ฟัง

แต่เมื่อต้องมาทำงานในลักษณะ Social Campaign เขายอมรับกับเราตรง ๆ ว่าไม่สามารถออกไปหาแรงบันดาลใจในลักษณะนั้นได้อีกแล้ว เพราะการทำงานเพื่อสังคมแบบที่พับแขนเสื้อลงไปคลุกฝุ่น ทำงานภาคสนามด้วยตัวเอง สิ่งที่ต้องเจอนั่นคือปัญหาหลากรูปแบบที่ประดังเข้ามาจากทุกทิศทุกทาง

DPP_4

“เกือบตลอดเวลาคือการแก้ปัญหาโจทย์ ผมจะไม่กระโดดไปหาข้อมูลจากข้างนอกแล้ว แต่จะเอาตัวเองไปคลุกคลีกับปัญหา เช่น ทำเรื่องชุมชน ผมลงไปพูดคุยกับชุมชนเองตลอดสองเดือน ทำงานตรงนี้ได้คุยกับคนเยอะ มีตั้งแต่เด็ก นักเรียน นักศึกษา ดีไซนเนอร์ สถาปนิก ได้เห็นวิสัยทัศน์ที่แตกต่าง ผมก็เอาข้อมูลกลับมาทำงาน มีคนที่เข้ามาพูดคุยเพื่อหาแรงบันดาลจากผม ขณะเดียวกันเขาก็สร้างแรงบันดาลใจให้ผมด้วยเช่นกัน”

ทำสิ่งต่าง ๆ มามากมาย แต่ดูเหมือนผู้ชายคนนี้จะยังมีอะไรอีกมากที่อยากทำ เราสัมผัสได้จากการพูดคุยกับเขาเพียงเวลาไม่นาน

“ใช่ครับ นี่คือเรื่องจริงที่ผมอยากสร้างโปรเจคที่ทำให้คนมีส่วนร่วมได้มากขึ้น  ไม่ใช่แค่ Art and Design  อยากเข้าไปช่วยองค์กรคิดทำยังไงให้สร้างแรงจูงใจคนจำนวนมาก เพราะที่ผ่าน ๆ มา การสื่อสารด้านสังคมมันน่าเบื่อ เราจะทำให้มันตื่นเต้นมากขึ้น ทำยังไงให้คนรู้สึกว่า น่าทำจังเลย อย่างตอนน้ำท่วม เราก็ต้องทำให้คนรู้สึกว่า ฉันอยู่บ้านเฉย ๆ ไม่ได้ ฉันต้องออกไปทำอะไร ทำให้การ Volunteer มันเป็นเทรนด์ มันเป็นกระแสสม่ำเสมอ เป็นแฟชั่น ตอนนี้เทรนด์อาสาสมัครต้องทำแบบนี้ คิดโปรเจคสนุก ๆ ให้คนเข้ามามีส่วนร่วม”

ก่อนจบบทสนทนาเอซยังฝากคำคมทิ้งท้ายให้แรงบันดาลใจ ซึ่งเขาอธิบายว่าทุกคนมีทักษะความสามารถ แม้ว่าแต่ละคนจะมีต้นทุนชีวิตที่แตกต่างกัน แต่ถ้าคุณหรือใครสามารถดึงบางส่วนออกมาแบ่งปันให้กับคนอื่น สร้างความเปลี่ยนทางสังคมได้ มันก็จะดี แต่ถ้าเราตัวคนเดียวก็ลองจับกลุ่ม ดูว่าแต่ละคนมีอะไร ประกบร่างกัน จากหนึ่งแรงรวมเป็นหลายแรงมันจะกลายเป็นพลังมหาศาลที่สามารถผลักดันไปในทางที่ดีขึ้น ดังเช่นที่เขากำลังพยายามทำให้สังคมได้เห็นอยู่ในขณะนี้

 

Life’s Quote

“ถ้าเราจะเปลี่ยนโลกเราก็ต้องเปลี่ยนตัวเองก่อน ถ้าเปลี่ยนตัวเองไม่ได้ ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะไปบอกคนอื่นให้เปลี่ยน”

 

Text: FonTham
Photo : Here Ace
mktevent
No Comments

Post a Comment