Top

MICE

MICE

6Y7A2026

 ทุกวันนี้การจัดงานประชุม สัมมนา นิทรรศการ และงานแสดงสินค้านานาชาติ ตลอดจนงานอีเว้นท์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั้งระดับชาติและนานาชาติ ไม่ได้เป็นเพียงส่วนสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยเท่านั้น หากแต่กิจกรรมดังกล่าวมีการเติบโตและยังเป็นส่วนสำคัญมากยิ่งขึ้นในระดับภูมิภาคเอเชียอีกด้วย รวมถึงสถานการณ์การท่องเที่ยวโลกที่มีการแข่งขันกันอย่างสูงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงาน (Host)

จะเห็นได้ว่ามหานครใหญ่ของโลกหลายแห่งต่างเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ การแข่งขันการประมูลจึงเป็นไปอย่างเข้มข้นเพื่อให้ประเทศของตนเองได้มีโอกาสเป็นผู้จัดงานขนาดใหญ่ระดับโลก เช่นที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดี อาทิเช่น World Expo มหกรรมกีฬาโอลิมปิก และ ฟุตบอลโลก เป็นต้น ทั้งนี้การจัดกิจกรรมต่าง ๆ ดังกล่าวจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวมก่อให้เกิดรายได้โดยตรงจากการจัดงาน และอีกหลากหลายธุรกิจในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับการเดินทางและการท่องเที่ยว, อาหารและที่พัก, งานฝีมือและเครื่องประดับ, เฟอร์นิเจอร์, เครื่องแต่งกาย, ยนตรกรรมยานยนต์, ของใช้ไฮเทคโนโลยี, และการศึกษา เป็นต้น

ต่างก็ล้วนได้รับผลประโยชน์มากมายทั้งทางตรงและทางอ้อมในแง่โอกาสทางการตลาด การทำตลาดรูปแบบใหม่ การโปรโมทสินค้าสู่สายตาชาวโลก การสื่อสารสองทางระหว่างแบรนด์กับผู้ร่วมงาน การขายสินค้า รวมถึงโอกาสในการพัฒนาการติดต่อและต่อยอดทางธุรกิจ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าการจัดกิจกรรมพิเศษหรืองานอีเว้นท์กลายเป็นเครื่องมือสำคัญทางการตลาดสำหรับธุรกิจในปัจจุบัน ซึ่งจะต้องมีส่วนประกอบที่ครบถ้วนทั้งในการสร้างสีสันและเสน่ห์ในเนื้อหาของงาน มีไดนามิคที่เร้าใจ สร้างอารมณ์ร่วม สร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้จัดและผู้เข้าร่วมงาน ทำให้เกิดความประทับใจ จนเกิดการจดจำ

จากโซลถึงปารีส, จากริโอ เดอ จาเนโรถึงดูไบ หรือ จากลาสเวกัสถึงกรุงเทพฯ ไม่ว่าที่ไหน ๆ ก็ล้วนมีความต้องการที่สอดคล้องตรงกัน นั่นคือ ต้องการการจัดงานที่มีคุณภาพและมาตรฐานโดยออแกไนเซอร์มืออาชีพ รวมถึงความต้องการบุคลากรผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีความคิดเชิงนวัตกรรม และเปี่ยมไปด้วยทักษะด้านการบริหารจัดการและการตลาด เพื่อรองรับตลาดแรงงานในธุรกิจอีเว้นท์ หรือที่เรียกกันว่าอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE; Meetings, Incentives, Conventions, and Exhibitions) นั่นเองค่ะ

สำหรับในประเทศไทย อุตสาหกรรมไมซ์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีการเจริญเติบโตสูงที่สุดของไทยและมีส่วนสําคัญต่อมูลค่าโดยรวมของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมไมซ์ของไทยมีการเติบโตอย่างสูงต่อเนื่องกันมาตลอดตั้งแต่ปี 2553 โดยระหว่าง ปี 2553 – 2556 จํานวนนักเดินทางไมซ์มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นจาก 679,585 คน เป็นจํานวน 1,013,502 คน หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 49.14 และมีรายได้จากอุตสาหกรรมไมซ์เติบโตจาก 53,515 ล้านบาทในปี 2553 เป็น 88,485 ล้านบาทในปี 2556 หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 65.35

เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบจํานวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวของไทยกับจํานวนนักเดินทางและรายได้จากอุตสาหกรรมไมซ์ในปี 2557 พบว่าไทยมีจํานวนนักท่องเที่ยวทั้งสิ้น 24,779,768 คน และมีรายได้จากการท่องเที่ยว รวม 1,147,654 ล้านบาท ในขณะที่มีจํานวนนักเดินทางไมซ์ 919,164 คน สามารถสร้างรายได้รวม 80,800 ล้านบาท โดยจะเห็นได้ว่าสัดส่วนนักเดินทางไมซ์เพียงร้อยละ 3.71 ต่อนักท่องเที่ยวทั้งหมด สามารถสร้างรายได้รวมคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7.04 ต่อรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด หรือคํานวณได้ว่ารายได้ที่ได้รับจากนักท่องเที่ยวทั่วไปในปี 2557 เท่ากับ 46,314 บาทต่อคน เปรียบเทียบกับรายได้ที่ได้รับจากนักเดินทางไมซ์ในปีเดียวกัน 87,906 บาทต่อคน ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้น นักเดินทางไมซ์จึงจัดเป็นกลุ่มนักเดินทางชาวต่างประเทศที่มีคุณภาพ (Quality Visitors) และอุตสาหกรรมไมซ์จัดเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ (Potential Industry) สําหรับภาคการท่องเที่ยวของไทย

(ที่มา: Calculated from Ministry of Tourism and Sports’ 2014 Tourism Situation Report 2014 and Thailand Convention and Exhibition Bureau (Public Organization), MICE industry statistics)

MKTEvent#17-EBook-51

เราเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าเยาวชนไทยมีศักยภาพไม่แพ้ชาติใด ๆ เราจึงมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเยาวชนรุ่นใหม่ให้เป็นมืออาชีพรองรับตลาดแรงงานในอุตสาหกรรมไมซ์

ปัจจุบัน คณะวิทยาการจัดการของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงเปิดหลักสูตรใหม่ ‘หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต’ สาขาวิชาการจัดการประชุม นิทรรศการ และการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล (MICE Management) ซึ่งได้รับความร่วมมือจาก สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ องค์การมหาชน (สสปน. หรือ TCEB) โดยมุ่งหวังเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของภูมิภาค เพื่อมุ่งเน้นการส่งเสริมองค์ความรู้ทุกรูปแบบในอุตสาหกรรมไมซ์ ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือนี้จะเป็นกรอบในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อเสริมสร้างอุตสาหกรรมไมซ์ให้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืน

หลักสูตรนี้เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่อยากก้าวเข้ามาทำงานในสายอาชีพอีเว้นท์ รวมถึงผู้ที่สนใจอยากจะดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมไมซ์ และมีแนวทางประกอบอาชีพได้ดังนี้ เป็นผู้จัดงานการแสดงสินค้าระดับมืออาชีพ (PEO), ผู้จัดงานประชุมสัมมนามืออาชีพ (PCO), บริษัทรับจัดการแหล่งท่องเที่ยว (DMC), พนักงานมืออาชีพที่ปฏิบัติงานในโรงแรม ศูนย์ประชุมฯ หรือหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับไมซ์ รวมทั้งผู้จัดงานอีเว้นท์ออแกไนเซอร์ เป็นต้น

 

บุคลิกลักษณะของคนพันธุ์ไมซ์  MICERs ควรประกอบด้วย 

  • มีใจรักงานบริการ (Service Minded)
  • มีความคล่องแคล่วและรวดเร็ว  (Mobility)
  • มีความยืดหยุ่นในการทำงาน (Flexible)
  • เปี่ยมไปด้วยมุมมองระดับสากล (International Perspective)
  • มีบุคลิกภาพดี (Pleasant Personality)
  • สามารถทำงานเป็นทีมได้อย่างลงตัว (Teamwork)
  • ทำงานเชิงรุกอยู่เสมอ (Proactive)
  • สามารถจัดการทุกเรื่องได้อย่างเป็นระเบียบ (Organized)
  • มีความคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking)
  • น่าเชื่อถือ (Reliable)
  • สามารถใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารได้ดี Language and Communication
  • สามารถทำงานภายใต้สภาวะกดดันได้เป็นอย่างดี Can work under pressure

นอกเหนือจากทั้งหมดที่ดิฉันได้เล่าไปในบทความนี้ ต้องขอเรียนเลยว่าทางคณะฯ ของเรายังเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้สร้างงานอีเว้นท์ของตนเองขึ้นมาเอง โดยให้พวกเขารับหน้าที่ในการจัดงาน ทั้งงานประชุมสัมมนา การจัดนิทรรศการ รวมถึงอีเว้นท์รูปแบบที่หลากหลาย ให้พวกเขาได้ฝึกหัดและทดลองปฏิบัติจริง เพราะเราตระหนักดีว่าการทำงานด้วยตัวเองนั้นจะช่วยเสริมสร้างและพัฒนาทักษะนำไปสู่การเป็นมืออาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง

 ต้องบอกเลยค่ะว่า การสร้างหลักสูตรและการพัฒนาการเรียนการสอนในบทบาทของสถาบันทางการศึกษาของประเทศ ถือเป็นความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อันจะเป็นกลไกขับเคลื่อนและนำพาประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำในอุตสาหกรรม MICE ของเอเชียต่อไปในอนาคต

———————————————————-

เรื่อง      : อาจารย์ธนิถา แสงวิเชียร

คณะวิทยาการจัดการ สาขาวิชาการจัดการประชุมนิทรรศการและการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

mktevent
No Comments

Post a Comment