Top

Startup Generation!

Startup Generation!

                  ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คำหนึ่งที่เรามักได้ยินกูรูด้านการตลาดระดับโลกหลายท่านพูดถึงเสมอนั่นก็คือ คำว่า ‘Startup’ (สตาร์ทอัพ) อันหมายถึงกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่บนสายธารการเคลื่อนไหลของเทคโนโลยี

ไม่เพียงแต่พูดถึงเท่านั้น ผู้เชี่ยวชาญระดับกูรูเหล่านั้นยังทำนายทายทักอีกว่าสตาร์ทอัพจะเป็นอีกเทรนด์สำคัญที่มีพลานุภาพเปลี่ยนแปลงภูมิศาสตร์ทางธุรกิจของโลกได้อย่างมหาศาลทั้งในวันนี้และในอนาคต

และดูเหมือนว่าเรื่องที่พูดถึงนี้จะมีเค้าลางความเป็นจริงมากขึ้นเรื่อย ๆ จากการที่คนรุ่นใหม่หันเหความสนใจมารวมตัวกันพัฒนาสินค้าเชิงนวัตกรรมกันมากมาย ก่อเกิดเป็นสังคมที่กำลังเบ่งบาน สานต่อเป็นวัฒนธรรมในยุคสมัยแบบ Startup Generation ขึ้นมาอย่างแข็งแกร่ง

เมื่อสตาร์ทอัพ” ทวีความสำคัญและเป็นแนวโน้มที่โลกยังต้องจับตาไปอีกนานแบบนี้ MKT Event จึงขอนำพาท่านผู้อ่านไปตรวจสอบในความเป็นสตาร์ทอัพแบบลงลึกกันดูสักครั้ง เพื่อให้คุณได้สัมผัสถึงพลังของคนกลุ่มนี้อย่างใกล้ชิด และไขข้อข้องใจว่าเขาจะเปลี่ยนแปลงโลกธุรกิจสมัยใหม่ด้วยพลังนั้นได้อย่างไร

 000024

What is Startup?

              ในยุคที่ข่าวสารท่วมท้นเต็มฟีดบนหน้าเฟซบุ๊ค ความรู้ทะลักล้นสามารถดึงลงมาจากอากาศได้อย่างฉับไวด้วยความเร็วของการส่งข้อมูลระดับกิกะไบต์ต่อนาที อาจจะทำให้คุณสับสนได้ว่าแท้ที่จริงสิ่งที่เรียกกันเท่ ๆ ในสังคมว่า สตาร์ทอัพนี้มันคืออะไร? ทั้งยังเป็นคำถามที่หลายคนสงสัย

เอาเป็นว่าไม่ต้องสับสนกันครับ คำ ๆ นี้ถูกอธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือบริษัทเกิดใหม่ (บางครั้งอาจะเรียกว่า Innovative SME) คือความหมายแรก ส่วนความหมายต่อมาก็คือคำนี้ส่วนใหญ่มักเอาไว้ใช้เรียกบริษัทของคนรุ่นใหม่ที่ประกอบธุรกิจทางด้านเทคโนโลยีรูปแบบสุดคูล หรือเป็นบริษัทผลิตอุปกรณ์อัจฉริยะต่าง ๆ ที่ฝังตัวอยู่ใน Silicon Valley นั่นแหละ

ดังนั้นถ้าเราจะบอกว่า เทคโนโลยี เอนเตอร์ไพรซ์ ชื่อดังของโลกอย่าง Apple, Microsoft, Intel, Dell, Facebook, Twitter และอะไรต่อมิอะไรอีกมากมาย ล้วนแต่ผ่านการเป็นสตาร์ทอัพมาก่อน พูดอย่างนี้ก็คงจะไม่ผิดนัก

แต่ถ้าจะให้ลงลึกมากกว่าแค่คำว่าบริษัทเกิดใหม่ ก็ต้องเป็นคำอธิบายของ Steve Blank กับ Bob Dorf สองผู้ยิ่งใหญ่แห่งซิลิคอนวัลเลย์ที่ร่วมกันเขียนอภิมหาตำราโนว์ฮาวของชาวสตาร์ทอัพที่ชื่อ ‘The Start-up Owner’s Manual’ ซึ่งเขาทั้งสองกล่าวไว้ว่า

“สตาร์ทอัพ คือองค์กรที่สร้างขึ้นเพื่อค้นหาบิสซิเนสโมเดลที่สามารถทำซ้ำ (Repeatable) และวัดผล (Scalable) ได้ ทั้งยังเป็นบริษัทที่ถูกออกแบบเพื่อค้นหาการทำธุรกิจรูปแบบใหม่และสร้างสินค้าอันเป็นที่พอใจของตลาด ซึ่งมีความแตกต่างกับบริษัทใหญ่ที่มีความมั่นคงตรงที่องค์กรใหญ่สามารถประสบความสำเร็จในการค้นหาสินค้าอันเป็นที่พอใจของตลาด ผ่านการออกแบบจากการตรวจสอบและการทดลองอย่างเต็มที่จนสินค้าเหล่านั้นมีความเสถียร ส่วนสตาร์อัพส่วนใหญ่เริ่มธุรกิจจากความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า เรียนรู้จากความผิดพลาด และนำผลที่ได้นั้นมาสร้างเป็นบิสซิเนสโมเดลให้ธุรกิจเจริญเติบโต”

000026

The Emergence of Startup Generation

            เมื่อทราบความหมายในเชิงลึกเพื่อการอรรถาธิบายกันไปแล้ว ทีนี้เราลองมาค้นหาที่มาของการเกิดขึ้นของยุคสมัยแห่งสตาร์ทอัพกันดีกว่า

ในเรื่องราวดังกล่าวเราจะหยิบยกเอาข้อเขียนของคุณมาร์ค นักเขียนชื่อดังจากเว็บไซต์ Blognone ที่เขาได้ไล่เรียงในประเด็นดังกล่าวตรงนี้ไว้อย่างชัดเจนในบทความที่ชื่อว่า ‘มาเปิดสตาร์ทอัพกันเถอะ!’

“สตาร์ทอัพ ไม่ใช่เรื่องใหม่ของวงการไอทีโดยเฉพาะสหรัฐนะครับ เราได้ยินเรื่องราวมากมายของบริษัทคอมพิวเตอร์ไฮเทคที่ก่อตั้งโดยเด็กหนุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยสองสามคน ใช้โรงรถเป็นฐานบัญชาการ และเปลี่ยนโลกได้สำเร็จในชั่วพริบตา เพียงแต่กระแสของสตาร์ทอัพครั้งใหญ่ครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 2001 พร้อมกับการบูมของอินเทอร์เน็ตและเว็บ ถึงแม้ฟองสบู่จะแตกไปหลังจากนั้นไม่นาน แต่สตาร์ทอัพที่เหลือรอดมาได้ก็พิสูจน์ตัวเองว่ายืนอยู่ได้ในระยะยาว ทั้ง Amazon, E-Bay, Yahoo และ Google”

“กระแสสตาร์ทอัพเงียบไปพักหนึ่งก่อนจะมาบูมอีกครั้งพร้อมเทคโนโลยีเว็บ 2.0 ช่วงปี 2006 และต่อด้วยกระแสอุปกรณ์พกพาราวปี 2009-2010 ช่วงนี้เราเห็นบริษัทไอทีหน้าใหม่ ๆ เริ่มสยายปีก เช่น Facebook, Twitter, Youtube ที่ก่อตัวตามกระแสของเว็บ 2.0 และบริษัทอย่าง Instagram, Foursquare, Rovio (ผู้สร้างเกมแองกรีเบิร์ด) เป็นต้น”

“ความมุ่งหวังของผู้ก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพมีอยู่สองประการใหญ่ ๆ ที่ผมเรียกว่า M&M หรือย่อมาจาก money & meaning ในทางหนึ่งผู้ก่อตั้งบริษัทก็หวังจะร่ำรวยระดับมหาเศรษฐีแบบ บิล เกตส์ แต่อีกทางหนึ่งนอกเหนือจากความร่ำรวยแล้ว เขาก็หวังจะทำงานในบริษัทไอทีเพื่อตอบสนองความหมายของชีวิตว่าผลงานที่เราสร้างขึ้นสามารถพลิกโลก สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อวิถีชีวิตของผู้คนได้อย่างไร”

อีกสิ่งหนึ่งที่ผมอยากตั้งข้อสังเกตถึงความนิยมที่ถาโถมเข้าสู่การเป็นสตาร์ทอัพในวันนี้ ก็คือการสร้างธุรกิจรูปแบบใหม่ที่ใครก็สามารถทำได้ หากคุณมีมุมมองและไอเดียที่แตกต่างในกระแสธารแห่งโลกเทคโนโลยี แล้วยิ่งกับการที่เครื่องไม้เครื่องมืออย่างสมาร์ทโฟน แท๊บเลต รวมถึงพื้นที่เผยแพร่คอนเทนต์ในโลกออนไลน์ถูกขยายกว้างไปอย่างไร้ขีดจำกัด

            ก็ยิ่งเป็นโอกาสที่ทำให้เหล่าสตาร์ทอัพทั้งหลายสามารถทำกำไรได้อย่างท่วมท้น ผลตอบแทนที่น่าเย้ายวนบวกกับการได้รับการจับจ้องทางสังคม ทั้งสองสิ่งเป็นแม่เหล็กสำคัญทำให้คนกลุ่ม Gen Y, กลุ่ม Gen Z, Gen Me, กลุ่ม Millennial หรือล่าสุดกลุ่ม Yuccie (Young Urban Creative) ผู้ทำหน้าที่ขับเคลื่อนโลกให้เดินหน้าไปในวันนี้ ต่างลุกขึ้นมาทำหลายสิ่งหลายอย่างที่ไปในทิศทางของสตาร์ทอัพกันอย่างแพร่หลาย

 

          คุณอยู่ใน Gen อะไร ลองเช็คดู

1. Greatest Generation

คนกลุ่มนี้เกิดในช่วงปี พ.ศ. 2444-2467 คือยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 พวกเขาจึงกลายมาเป็นกำลังหลักของการต่อสู้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อสงครามสงบ คนรุ่นนี้จึงเป็นกำลังสำคัญในการฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจผู้คนในยุคนั้นจะมีความเป็นทางการสูง ผู้ชายจะใส่สูทผูกไทเมื่อออกจากบ้าน คนในสังคมจะมีแบบแผนปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน เชื่อมั่นรัฐบาล อำนาจรัฐ มีจิตสำนึกความเป็นพลเมืองร่วมกัน

2. Silent Generation

คือคนที่เกิดในช่วง พ.ศ. 2468-2488เข้าสู่ยุคเศรษฐกิจตกต่ำ ดังนั้น ผู้คนจึงมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก ต้องทำงานหนักในโรงงาน หามรุ่งหามค่ำ คนรุ่นนี้จึงมีความเคร่งครัดต่อระเบียบแบบแผนมาก มีความจงรักภักดีต่อนายจ้าง และประเทศชาติสูง เคารพกฎหมาย เป็นยุคที่ผู้หญิงเริ่มออกมาทำงานนอกบ้านกันมากขึ้น

3. Baby Boomer

เบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomer) หรือ Gen-B หมายถึงคนที่เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2489-2507 หรือในยุคสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 สาเหตุ ที่เรียกว่า “เบบี้บูมเมอร์” ก็เพราะว่าหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง บ้านเมืองที่ผ่านการสู้รบได้รับความเสียหายอย่างหนัก ประชากรที่เหลืออยู่ในแต่ละประเทศจึงต้องเร่งฟื้นฟูประเทศให้กลับมาแข็ง แกร่งมั่นคงอีกครั้ง แต่สงครามทำให้มีคนตายไปมาก ประเทศหลายประเทศขาดทรัพยากรคน ยุคนั้นจึงมีค่านิยมที่จะต้องมีลูกหลาย ๆ คน เพื่อสร้างแรงงานขึ้นมาพัฒนาประเทศชาติ

4.Generation X

คนยุคนี้จะเกิดอยู่ในช่วงปี พ.ศ. 2508-2522 อาจเรียกอีกชื่อว่า “ยับปี้” (Yuppie) เพราะ เกิดมาพร้อมในยุคที่โลกมั่งคั่งแล้ว จึงใช้ชีวิตอย่างสุขสบาย เติบโตมากับการพัฒนาของวิดีโอเกม, คอมพิวเตอร์, สไตล์เพลงแบบฮิปฮอปปัจจุบัน คนยุค Gen-X เป็นคนวัยทำงาน มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไปแล้ว พฤติกรรมที่เด่นชัดมากก็คือ ชอบอะไรง่าย ๆ ไม่ต้องเป็นทางการ ให้ความสำคัญกับเรื่องความสมดุลระหว่างงานกับครอบครัว (Worklife Balance)  มีแนวคิดและการทำงานเพียงลำพังไม่พึ่งพาใคร เป็นตัวของตัวเองสูง มีความคิดเปิดกว้าง มีความคิดสร้างสรรค์

5. Generation Y

คนที่เกิดอยู่ในช่วงปี พ.ศ. 2523-2540 คนกลุ่มนี้เติบโตขึ้นมาท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง และค่านิยมที่แตกต่างระหว่างรุ่นปู่ย่าตายาย กับ รุ่นพ่อแม่ แต่ก็รับเอาความเจริญรุดหน้าของเทคโนโลยี และอินเทอร์เน็ตเข้ามาแทรกอยู่ในการดำรงชีวิตประจำวันด้วย ปัจจุบันคนกลุ่มนี้อยู่ในทั้งช่วงวัยเรียน และวัยทำงาน และจากการที่ยุคนี้เป็นยุคที่มีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงไม่น่าแปลกใจที่คนกลุ่มนี้จะมีความสามารถในการทำงานที่เกี่ยวกับการ ติดต่อสื่อสาร ชอบงานด้านไอที ใช้ความคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ รวมทั้งสามารถทำอะไรหลาย ๆ อย่างได้ในเวลาเดียวกัน

6.Generation Z

Gen-Z หมายถึงคนที่เกิดหลัง พ.ศ. 2540 ขึ้นไป กลุ่ม Gen-Z นี้ จะเติบโตมาพร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายที่อยู่แวดล้อม มีความสามารถในการใช้งานเทคโนโลยีต่าง ๆ สิ่งหนึ่งที่เด็กรุ่น Gen-Z แตกต่างจากรุ่นอื่น ๆ สมัยที่ยังเป็นเด็กอยู่ก็คือ เด็กรุ่นนี้จะ ได้เห็นภาพที่พ่อและแม่ต้องออกไปทำงานทั้งคู่ ต่างจากรุ่นก่อน ๆ ที่อาจจะมีพ่อออกไปทำงานคนเดียว ด้วยเหตุผลนี้ เด็ก Gen-Z หลาย ๆ คนจึงได้รับการเลี้ยงดูจากคนอื่นมากกว่าพ่อแม่ของตัวเอง

ที่มา :http://hilight.kapook.com/

 

000028 

Funding Source for Startup

               ถ้าอยากเป็นสตาร์ทอัพต้องมีเงินมากแค่ไหน? อาจเป็นคำถามที่ทำให้คนรุ่นใหม่ต้องอึ้งไปชั่วขณะ เมื่อมีคนถามขึ้นมา บางครั้งพาลจะทำให้หยุดฝันเอาง่าย ๆ เพราะเรื่องเงินทุนและสายป่านที่ทอดยาวนั้นคือเรื่องสำคัญไม่แพ้ไอเดียล้ำ ๆ ในการสร้างสินค้า

แต่ในความเป็นจริงแล้วมันอาจไม่ได้โหดร้ายขนาดนั้น เพราะในโลกธุรกิจยุคใหม่นั้นเต็มไปด้วยโอกาสให้คนไขว่คว้าเสมอ โดยเฉพาะเมื่อทุกสิ่งถูกนำไปแขวนลอยไว้กับเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต ที่สามารถเพิ่มขีดความสามารถและลดต้นทุนในการทำงานบางอย่างได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งในยุคที่ดีไวซ์ (Device) ต่าง ๆ ได้รับการพัฒนาก็ยิ่งเสมือนเป็นหน้าร้านที่ทำให้คนทั้งหลายสามารถเข้าถึงสินค้าของคุณได้มากขึ้น หากคุณเป็น Apps Developer

นั่นคือส่วนแรกที่เทคโนโลยีสามารถลดต้นทุนเพื่อแบ่งเบาภาระในการดำเนินธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในวันนี้ แต่ในกรณีที่คุณแน่ใจว่ามีไอเดียแสนบรรเจิดจนสามารถสร้างสินค้านวัตกรรมพลิกชีวิตคนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ แต่ขาดทุนรอนในการดำเนินโปรเจค

ในส่วนนี้คุณสามารถหอบโปรเจคนั้นไประดมทุนได้ในโลกออนไลน์ที่ในวันนี้เต็มไปด้วยเว็บไซต์ระดมทุน (Crowndfunding) ที่มีอยู่มากมาย อาทิ Gofundme, Kickstarter, Indiegogo, Teespring, Patreon, Youcaring.com, Crowndrise และอีกมากมายหลายเว็บไซต์บนพรมแดนแห่งโลกออนไลน์

หรือยังมีหนึ่งทางเลือกนั่นคือการระดมทุนผ่านองค์กรระดมทุนเอกชนที่สนับสนุนการลงทุนกับสตาร์ทอัพอย่างจริงจังตามแว่นขยายแห่งเทรนด์ที่เพ่งมองไปยังผู้ประกอบการกลุ่มนี้แบบตาเป็นมัน ซึ่งรูปแบบของนักลงทุนก็มีทั้งแบบ นักลงทุนในรูปแบบขององค์กร (Venture Capital) และนักลงทุนอิสระ (Angel Investor) พวกเขาจะเดินทางไปทั่วโลกเพื่อร่วมลงทุนกับสุดยอดสตาร์ทอัพ โดยพวกเขาจะพิจารณาจากไอเดีย นวัตกรรม ประวัติการทำงาน โอกาสทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้นจากนวัตกรรม รวมถึงความคุ้มค่าในการลงทุน

ถ้าหากเหล่าสตาร์ทอัพสามารถผ่านขั้นตอนสุดหินเหล่านี้ไปได้ นอกจากจะได้เงินทุนไปสร้างฝันแล้ว ยังจะได้รับการดูแลและได้รับคำปรึกษาจากบริษัทผู้ให้ทุนเหล่านี้ จนสามารถพัฒนาความสัมพันธ์กลายเป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันนั่นเอง 

0000281

 

000029

How to Be a Successful Startup

            หลังจากที่เราได้กล่าวถึงแหล่งระดมทุนเพื่อหาเงินมาแปรเปลี่ยนเป็นสินค้าแล้ว เพื่อความชัดเจนมากขึ้นไปอีก ในส่วนนี้เรามาว่ากันที่นิสัยดี ๆ ที่สามารถนำพาให้สตาร์ทอัพทั้งหลายสามารถเดินหน้าไปไขว่คว้าหาความสำเร็จ โดยเรารวบรวมมาจาก10 นิสัย ของสตาร์ทอัพที่มีการเติบโตเร็วที่สุดในโลก’  ในเว็บไซต์ ‘growthbee.com’

            หากคิดอยากเป็นสตาร์ทอัพในวันนี้ ลองมาเช็คลิสต์กันดูว่าคุณมีอุปนิสัยเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน แต่ขอร้องนะครับให้ลองเช็คกันดูด้วยความจริงใจ

นิสัยที่ 1   คุณต้องรู้อย่างละเอียดเพื่อค้นหาสินค้าที่ถูกต้องตรงกับความต้องการของผู้บริโภคและตลาดในยุคปัจจุบัน

นิสัยที่  2  เป็นนักตั้งคำถามแบบสร้างสรรค์กับลูกค้าและผู้บริโภค

นิสัยที่ 3   ใช้เครื่องมือวิเคราะห์ให้เป็น เพื่อแสวงหาข้อมูลที่เหมาะสม

นิสัยที่ 4   พยายามปรับปรุงเครื่องมือค้นหาความต้องการของผู้บริโภคอยู่เสมอ

นิสัยที่ 5   ปลูกฝังจิตสำนึกแห่งการพัฒนาธุรกิจให้เจริญเติบโตแก่ทุกคนในองค์กร

นิสัยที่ 6   ทดลองทำทุกไอเดีย เพราะไม่มีใครรู้ว่าความคิดใดดีหรือไม่ดี

นิสัยที่ 7   ให้ทรัพยากรที่เพียงพอกับคนที่ดูแลเรื่องการเจริญเติบโตทางธุรกิจโดยตรง

นิสัยที่ 8   ทดลองทุกอย่างให้เร็วที่สุด หากไม่ดีก็พร้อมถอนตัวจากโปรเจคนั้น

นิสัยที่ 9   ให้ความสำคัญกับการหาไอเดียใหม่ในองค์กร โดยคำนึงถึงผลทางธุรกิจภายนอกให้น้อยลง

นิสัยที่ 10   ทำให้สิ่งที่ประสบความสำเร็จแล้ว ยิ่งสำเร็จมากกว่าเดิม

ทั้ง 10 ข้อ เป็นหลักง่ายที่เรานำมาให้คุณได้เช็คลิสต์ เชื่อว่าไม่น่าจะยากหากสิ่งที่ได้กล่าวไปนั้นนำมาซึ่งการสร้างนวัตกรรมที่สามรถพลิกโลกได้วันนี้ จริงไหม?

 

Face of Famous Startup in the World

หากถ้าไม่นับเอาความสำเร็จของ Apple, Intel, Google, Yahoo, Facebook, Twitter แล้ว โฉมหน้าที่คุณจะได้เห็นต่อไปนี้คือตัวอย่างของคนที่ถือได้ว่าเป็นสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ที่โลกกำลังจับตาอยู่ในขณะนี้

 

Slava Rubin :

SlavaRubin2

Slava Rubin คือผู้ให้กำเนิดเว็บไซต์ Crowd Funding ชื่อดังอย่าง ‘Indiegogo’ ที่สามารถผลักดันนวัตกรรมออกสู่โลกได้มากมายกว่า 200,000 เคมเปญ ครอบคลุมทั้งนวัตกรรมในหมวดหมู่ของศิลปะ ภาพยนตร์ และอุปกรณ์ไฮเทคอันหลากหลาย

 

Marc Nager :

marc-nager1

Marc Nager คือหนึ่งในบุคคลผู้มีอิทธิพลในโลกแห่งสังคมของกลุ่มชน Start-Up วันนี้ เพราะชื่อของเขานั้นเป็นที่รู้จักกันในฐานะซีอีโอและ Co-Director ของ ‘Startup Weekend’ บริษัทฝึกอบรมในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่อัดแน่นด้วยคอรส์การอบรมด้านการสร้างสรรค์ไอเดียการผลิตสินค้า รวมถึงการอบรมเชิงการตลาดเพื่อพัฒนาสินค้าให้ตรงใจผู้บริโภคด้วยเวลาเพียง 54 ชั่วโมงเท่านั้น

  

Tina Wells :

tina-wells

เธอคือผู้ให้กำเนิดบริษัท ‘Buzz Marketing Group’ บริษัทที่ให้คำปรึกษาด้านการวางกลยุทธ์การตลาดที่สามารถเชื่อมต่อกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนกลุ่มวัยรุ่นโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่น Millennial (อายุ 20-30 ปี) อันดับต้น ๆ ของโลกในยุคปัจจุบัน

 

Jennifer Fleiss, Jennifer Hyman :

rent-the-runway3

สองสาวชื่อเหมือนกันเป๊ะ แต่แตกต่างที่นามสกุล ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างดีในฐานะ Co-Founder ของ ‘Rent the Runway’ พื้นที่กลางบนโลกออนไลน์ที่เปิดให้สาว ๆ ได้เข้ามาหยิบยืมเสื้อผ้าไฮโซที่ออกแบบโดยดีไซเนอร์ชื่อดังของโลก รวมถึงเครื่องประดับราคาแพงกันแบบฟรี ๆ ไม่มีค่าใช้จ่าย จนธุรกิจที่เธอทั้งสองทำได้รับการกล่าวขานให้เป็น ‘Netflix’ แห่งวงการแฟชั่น

 

Travis Kalanick :

travis-kalanick

 

ชายหนุ่มผู้เป็นทั้ง Co-Founder และ CEO ของบริษัทบริการแท็กซี่ที่มาแรงที่สุดในโลกยุคปัจจุบันอย่าง ‘Uber’ ซึ่งในขณะนี้บริการ และ Uber ได้แพร่กระจายไปแทบจะทุกเมืองใหญ่ในโลก จนว่ากันว่า Uber มีมูลค่าแบรนด์ในเชิงธุรกิจมากถึง 1.3 ล้านล้านบาทไปแล้ว (ไม่รู้จะเรียกว่าสตาร์ทอัพได้หรือไม่)

 

Nathan Blecharczyk :

Nathan-Blecharczyk

 

เขาคือหนึ่งในผู้ก่อตั้งเว็บไซต์จองห้องพักที่โด่งดังที่สุดในโลกอย่าง Air bnb โดยนำความคิดแบบเศรษฐกิจแห่งการแบ่งปัน (Sharing Economy) มาผนวกเข้ากับการบริการที่พัก สร้างเป็นธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ขนาดว่าในปัจจุบัน Air bnb มีตัวเลขคนจองเข้าพักกว่า 25 ล้านราย เข้าพักในห้องกว่า 1 ล้านแห่ง ในกว่า 34,000 เมือง ของ 190 ประเทศทั่วโลก

 

Let’s Talk with Thai’s Startup Guru

000032

ณ ปัจจุบันขณะของประเทศไทย หากจะถามว่าใครคือกูรูที่มีความเชี่ยวชาญด้านสตาร์ทอัพ อีกทั้งยังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังผลักดันในการสร้างระบบระเบียบวิธีคิด นิเวศวิทยาแวดล้อมอันสมบูรณ์เพื่อติดปีกให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่เหล่านั้นได้บินไกลไปสู่ระดับโลก

คำตอบที่ได้แน่นอนต้องเป็นชื่อของ ‘กระทิง-เรืองโรจน์ พูนผล’ ชายหนุ่มผู้เคยผ่านประสบการณ์การทำงานกับเหล่าสตาร์ทอัพชื่อดังระดับโลกมาแล้วมากมาย อีกทั้งยังเคยเป็นหนึ่งในทีมงานของ Google ในซิลิคอนวัลเลย์มาแล้ว

ด้วยความเชื่อที่ว่า ‘Any One Can Change The World’ ทำให้เขาคิดริเริ่มในการสร้างสถาบันที่จะทำหน้าที่บ่มเพาะผู้ประกอบการสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ของไทยในชื่อของ ‘Disrupt University’ ขึ้นมา

เพียงสองปีของการก่อตั้ง เขาทำให้ Apps Developer  ไทย สามารถก้าวขึ้นไปเป็นเบอร์ 1 ของเอเชีย รวมถึงอีกหลายโครงการที่ผ่านการเคี่ยวกรำจากสถาบันนี้รอจ่อออกไปสร้างความสำเร็จในระดับโลก วิธีคิดในการสร้างสตาร์ทอัพแบบไทย ๆ ในสไตล์เขาเป็นอย่างไร คือเรื่องที่เราสงสัยใคร่รู้

“Startup คือเรื่องใกล้ตัวมากในวันนี้สำหรับคนไทย หลัก ๆ มันเป็นเรื่องของกระบวนการ Mind Set และ Attitude จริง ๆ แล้วทุกคนสามารถเป็นสตาร์ทอัพได้ ทั้งยังสามารถนำเอาหลักคิดแนวคิดของสตาร์ทอัพมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ เช่นเรื่องของการพัฒนาตัวเองอย่างสม่ำเสมอ อันนี้คือสิ่งสำคัญมากสำหรับการดำเนินชีวิต คือสตาร์ทอัพทุกวันนี้ต้องคิดว่าเราจะผลักดันตัวเองให้เดินไปข้างหน้าได้อย่างไร คือพัฒนาตัวเอง 1% ต่อวัน หรือ 1% ต่ออาทิตย์ ไม่นานคุณจะสามารถเก่งได้เพิ่มขึ้น 100% นี่เป็นหลักการง่าย ๆ ของแนวคิดแบบสตาร์ทอัพกับการพัฒนาศักยภาพ”

“สตาร์อัพไทยเราเพิ่งเริ่มต้นกันที่ Day 1 เพราะซิลิคอนวัลเล่ย์สร้างมากว่า 60 ปีแล้ว แต่ในขณะที่วันแรกเลยสตาร์ทอัพเมืองไทยเพิ่งเริ่มมาประมาณปี 2012 เอง แต่ว่าพอปี 2013 ต่อเนื่องมาที่ 2014 วงการนี้ก็ดังเปรี้ยงขึ้นมาเลย สตาร์ทอัพเมืองไทยระดมทุนรวมกันประมาณ 25 ล้านเหรียญหรือประมาณ 750 ล้านบาท มีการขายบริษัทมูลค่า 500 ล้านบาท และเมื่อต้นปีนี้มีการขายบริษัทมูลค่าเกือบ 1,000 ล้านบาท สมัยก่อนบริษัทที่ขายได้ 100 ล้านบาทนี้ใหญ่แล้วนะครับ”

“ตอนนี้มูลค่าสตาร์ทอัพไทยที่ใหญ่ที่สุดประมาณ 3,000 กว่าล้านบาท ก็คือ Ookbee ดังนั้นขั้นถัดไปของการเจริญเติบโตก็คือการสร้างมูลค่าให้สตาร์ทอัพของเรามีมูลค่า 1,000 ล้านเหรียญ หรือเทียบได้กับ 30,000 ล้านบาท เพราะอย่างที่รู้กันว่าธุรกิจสตาร์ทอัพเวลามันโตมันไม่ได้โต 15% ต่อปี มันโตเป็นเท่าตัว เป็นสิบเท่าต่อปี คืออย่างอุ๊คบีโตขึ้น 1,000 เท่าใน 3 ปี ฉะนั้นมันโตขึ้น 10 เท่าปีแรก 10 เท่าปีที่สอง 10 เท่าปีที่สาม 10 ยกกำลัง 3 เท่ากับ 1,000 มันจึงเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ”

“การจะเป็นสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จ ผมว่าวิธีคิดมันมี 3 สิ่งเป็นส่วนประกอบ อย่างแรกมันคือการหาสูตรของการทำธุรกิจให้เจอ พอหาสูตรการทำธุรกิจเจอก็ทำซ้ำ ๆ ไปเรื่อย ๆ จนเชี่ยวชาญ และขั้นต่อไปคือการระดมทุนคือการหาเงินมาให้เยอะที่สุดเพื่อมาทำซ้ำสูตรเหล่านั้น แต่นั่นคือความท้าทายของสตาร์ทอัพ ซึ่งเป็นธุรกิจที่มี่ความเสี่ยงแต่ในขณะเดียวกันก็มีผลตอบแทนสูงมาก เพราะว่าอย่างที่บอกไม่ใช่ทุกสตาร์ทอัพที่หาสูตรเหล่านั้นเจอ แต่ถ้าสตาร์ทอัพไหนหาสูตรเหล่านั้นเจอ เปรี้ยงเดียวคุณประสบความสำเร็จทันที เอาง่าย ๆ ครับสตาร์ทอัพในอเมริกาไม่ถึง 10% ที่สามารถระดมทุนได้ แล้วในสตาร์ทอัพที่สามารถระดมทุนได้ 10% ก็มีอีกแค่ 10% ของ 10% ก็คือ 1% ที่ระดมทุนได้น้อยมาก”

“ผมเคยคุยกับ Neil Patel ที่เป็นสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลกคนหนึ่ง เขาบอกผมว่าคนที่เปิดบริษัทแรกส่วนใหญ่ 99% จะเจ๊ง แต่พอมาเปิดบริษัทที่สองคุณจะไม่เจ๊ง เพราะว่าคุณจะเรียนรู้จากความผิดพลาดมาสร้างธุรกิจที่สอง คุณจะระวังมากแต่ก็ยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะโตหรือไม่ แต่กับธุรกิจที่สาม ถ้าทำได้คุณจะทั้งกำไรและโตจากการเรียนรู้ผ่านมาจาก ขั้นตอนที่ 1 และ 2 สตาร์ทอัพมันเป็นเรื่องอย่างนี้”

“แต่การลองผิดลองถูกบางทีไม่ต้องใช้สายป่านอะไรมาก เพราะตอนนี้มันมีการระดมทุนที่คุณสามารถเอาเงินเหล่านี้มาลองได้อย่างที่บอกครับ บางครั้งคุณต้องล้มก่อนประสบความสำเร็จ น้อยมากที่จะมีใครทำธุรกิจแรกแล้วเปรี้ยงเลย คุณต้องล้มให้เร็ว ยิ่งเร็วเท่าไหร่คุณยิ่งได้ความรู้ในการปรับบิสิเนสโมเดล นั่นคือ Key Concept ของการล้ม และการเรียนรู้การปรับตัวให้รวดเร็วอย่าไปยึดติดกับสิ่งเสียไป มีทีมที่ยืดหยุ่นและมีทัศนคติเริ่มแรกว่าความคิดแรกมันอาจจะไม่เวิร์ค รวมถึงใช้เวลาเทสต์กับผู้บริโภคให้น้อยที่สุด ถ้าไม่เวิร์คก็เปลี่ยนมันซะและคิดเสมอว่าความล้มเหลวคือต้นทุน”

“การสนับสนุนสตาร์อัพในเมืองไทยของผมคือการเปิดโรงเรียนสอนสตาร์ทอัพที่ชื่อ ‘Disrupt University’ นักเรียนเราจบมาค่อนข้างเยอะ ซึ่งนักเรียนของเราระดมทุนมาได้รวมกันมาแล้วประมาณ 7 ล้านเหรียญ แล้วก็มูลค่าบริษัทรวมกันประมาณ 1,000 บาท เริ่มตั้งมา 2 ปี เราก็เริ่มเห็นนักเรียนของเราไปเป็นสตาร์ทอัพเบอร์ 1 ของเอเชียก็คือแอพลิเคชั่น ‘Tammkru’ ที่สามารถระดมทุนได้เกือบ 30 ล้านบาท มูลค่าบริษัทขึ้นมหาศาลในหนึ่งปี”

“เรื่องหลักที่ Disrupt University สอนอย่างแรกคือ คุณต้อง Fail และต้อง Fail Many Times เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันความล้มเหลวให้ได้ภายในใจ เราสอนตั้งแต่เริ่ม Pitch ไอเดีย ให้คุณเสนองาน ถ้าไม่ดีจริงเรายิงไอเดียจนแหลก เพื่อให้รู้ว่าไอเดียคุณมันอาจจะยังไม่ดีพอ เป็นการเปิดโลกความจริงให้กับเขา ซึ่งจะได้ฟีดแบ๊คที่มีประโยชน์กลับไปในวันแรก ส่วนวันที่สองเราจะพยายามบังคับให้เขาทำตัว Prototype ขึ้นมา วันที่สามก็เริ่มเทสต์โปรดักต์ต้นแบบที่สร้างขึ้น วันที่สี่ลองให้คิดบิสซิเนสโมเดล แล้ววันที่ห้าลองระดมทุนกับนักลงทุนจริง ๆ เลย นี่เป็นคอร์สเข้มข้นที่จะสร้างคุณให้เป็นสตาร์ทอัพที่ดีได้ภายใน 60 ชั่วโมง”

“เราต้องสร้าง Roll Model ที่ประสบความสำเร็จขึ้นมาก่อน ผมคิดแบบนี้นะ พอมีตัวอย่างความสำเร็จคนก็จะเปลี่ยน แค่เปลี่ยนวิธีคิดนิดเดียวโลกมันก็เปลี่ยน ขั้นถัดไปก็คือการหาเงินมาลงทุน เพราะฉะนั้นผมถึงเปิดกองทุนเรียกว่า ‘500 TukTuks’ เป็นกองทุน 300 ล้านบาท เป็นการลงทุนกับสตาร์ทอัพ แล้วแพลนจะสร้างสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จประมาณ 50 กว่าเจ้าขึ้นไปในเวลา 3 ปีข้างหน้า นี่เป็นแผนที่ผมกำลังริเริ่มเพื่อสร้าง Ecosystem ของสตาร์ทอัพให้ก่อตัวขึ้นในประเทศไทยครับ”

            

 

Text :Boonake A.

Photo : Wiriya L.

mktevent
No Comments

Post a Comment