Top

The Conclusion of ‘Thailand Research Week’

The Conclusion of ‘Thailand Research Week’

ในฐานะที่ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งประเทศในโลกที่ให้ความสำคัญกับงานด้านการวิจัยและพัฒนา ทุกปีจะมีการจัดงานที่ชื่อ ‘มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ’ ขึ้นเพื่อสื่อสารกับสังคมภายนอกให้ได้รับรู้ถึงความก้าวหน้าของวงการงานวิจัยของไทย  จนเรียกได้ว่าเป็นงานใหญ่ประจำปีของประเทศเลยก็ว่าได้

 

และในปีนี้มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติก็ถูกจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ทั้งยังเพิ่มความพิเศษเข้าไปด้วยอีเวนท์อีกสองงานที่เกี่ยวกับงานวิจัยและพัฒนา นั่นคืองาน “25 ปี สกว. : สร้างคน สร้างความรู้ สร้างอนาคต” และ “การประชุมวิชาการน้ำมันรำข้าวนานาชาติ” ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.), สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.) และสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ด้วยกิจกรรม “สัปดาห์งานวิจัยแห่งชาติ” (Thailand Research Week) ซึ่งจัดอย่างยิ่งใหญ่ใจกลางเมืองย่านราชประสงค์จรดปทุมวัน ระหว่างวันที่ 23-27 สิงหาคม 2560 พร้อมกันตลอดทั้งสัปดาห์

 

และเพื่อให้คุณผู้อ่านของเราได้รับรู้ในเนื้องานเบื้องต้นก่อนใคร Cover Story ฉบับนี้จึงได้นำข้อมูลที่น่าสนใจของทั้ง 3 งาน มาเล่าแบบรวบรัดให้คุณได้เข้าใจแก่นสารและเนื้อหาโดยสรุป ก่อนที่คุณจะได้ไปสัมผัสกับงานในวันจริง จะมีอะไรที่น่าทึ่ง น่าตื่นตาตื่นใจบ้าง เรานำมาให้อ่านที่ด้านล่างนี้แล้ว

 

 

มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ (Thailand Research Expo 2017)

Date : 23-27 สิงหาคม 2560

Venue : โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์-บางกอกคอนเวนชัน แอท เซ็นทรัลเวิลด์

Motto : วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศ สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

Why This Events is Matter :

“มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2560” จัดโดย คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติด หรือ วช. เป็นงานระดับชาติที่นำเสนอผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่มีคุณภาพ เพื่อเชื่อมโยงและบูรณาการความรู้เหล่านั้นไปสู่การพัฒนาประเทศในมิติต่าง ๆ ทั้งในด้านวิชาการ สังคม การพาณิชย์เชิงอุตสาหกรรม ที่ตอบโจทย์กับการแก้ไขปัญหาของประเทศทั้งในวันนี้และในอนาคต ทั้งยังเป็นเวทีที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักวิจัยรุ่นใหม่ รวมถึงผู้ประกอบการต่าง ๆ ทั้งรายใหญ่ และรายย่อยที่สามารถนำไอเดียเหล่านี้ไปสร้างแรงบันดาลเชิงสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาธุรกิจตนเองได้ รวมถึงยังเป็นพื้นที่กลางที่เชื่อมโยงให้นักวิจัยจากองค์กรต่าง ๆ เข้ามาพบปะกัน แลกเปลี่ยน โอนถ่ายความรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อสร้างสังคมการวิจัยของไทยให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นเอกภาพ

Activity:

ภายในงานมีกิจกรรมหลัก ๆ ได้แก่ นิทรรศการเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงเป็น “พระบิดาแห่งการวิจัย”, สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 และพระบรมวงศานุวงศ์ ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่องานวิจัยไทย, นิทรรศการแสดงผลงานวิจัยของหน่วยงานในระบบวิจัย ภาคการประชุม/สัมมนา นอกจากนี้ยังมี Research Clinic เป็นการให้คำปรึกษาในเรื่องของการวิจัย, การประกวดผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา และการนำเสนอผลงานวิจัยจากทั่วประเทศมาจัดแสดงมากกว่า 1,000 ผลงาน

พลาดไม่ได้กับ “นิทรรศการผลิตผลองค์ความรู้การวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ในพื้นที่ชุมชนสังคม” หรือ Research for Community ที่ได้ถูกแบ่งออกมาได้เป็น 7 ธีมหลัก คือ

 

1. งานวิจัยเพื่อความมั่นคง 

ครอบคลุมงานวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนายุทโธปกรณ์ที่จำเป็น เพื่อการพึ่งพาตนเองนำไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ การพัฒนาองค์ความรู้ และเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อเผ้าระวัง ป้องกัน และรับมือกับการก่อการร้ายและภัยคุกคามต่าง ๆ การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการตรวจ เฝ้าระวัง แจ้งเตือน ช่วยเหลือ และบรรเทาภัยพิบัติต่าง ๆ

 

 

 

2. งานวิจัยเพื่อการเกษตร 

พื้นที่แสดงงานวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนานวัตกรรมการเกษตรและการจัดการธุรกิจที่ครบวงจรมากที่สุด สำหรับเกษตรกรรายย่อย แบบยั่งยืนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมการเกษตรสมัยใหม่สำหรับพืชและสัตว์เศรษฐกิจ

 

 

3. งานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม 

พื้นที่แสดงงานวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านอุตสาหกรรมที่มีมาตรฐาน ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล  เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมศักยภาพ การพัฒนาความรู้เทคโนโลยี ขีดความสามารถในการทำนวัตกรรมสินค้า และรูปแบบธุรกิจของผู้ประกอบการ SME

 

 

 

4. งานวิจัยเพื่อสังคม

ครอบคลุมงานวิจัยที่เกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษาและการเรียนรู้ที่เหมาะสม คนทุกช่วงวัย รวมถึงคนพิการและผู้ด้อยโอกาสสามารถเข้าถึงได้ง่าย การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการจัดการเชิงสังคมเศรษฐกิจที่เหมาะสมกับระดับท้องถิ่น การศึกษา ติดตาม วิเคราะห์ประเด็นปัญหาต่าง ๆ ในสังคมไทย ทั้งเรื่องคน วัฒนธรรม ศิลปกรรม กฎหมาย การเมือง การปกครอง การท่องเที่ยว รวมถึงการพัฒนาชุมชนต้นแบบ การนำแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่การพัฒนานวัตกรรม

 

 

5. งานวิจัยเพื่อการแพทย์และสาธารณสุข

แสดงงานวิจัยด้านการพัฒนายา เครื่องมือแพทย์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ วัสดุทางการแพทย์ เวชภัณฑ์ทางการแพทย์ อาหารทางการแพทย์ การพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมเพื่อการดูแลและการดำรงชีพเพื่อผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเชื่อมโยงฐานข้อมูลต่าง ๆ ของรัฐเข้ากับระบบสาธารณสุขไทย เพื่อสร้างบริการทางการแพทย์ สร้างระบบประกันสุขภาพ สร้างระบบการจัดการภาวะฉุกเฉิน เพื่อยกระดับงานวิจัยด้านการแพทย์และสาธารณสุขให้ก้าวหน้า

 

 

6. งานวิจัยเพื่อพลังงาน 

นำเสนองานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน เช่น การพัฒนาพลังงานทดแทน การพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานเคมีชีวภาพ การสำรวจแหล่งพลังงานใหม่ การพัฒนาพลังงานหมุนเวียน การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน รวมถึงงานวิจัยที่เกี่ยวกับการพัฒนาและการใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

 

 

 

7. งานวิจัยเพื่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

ครอบคลุมงานวิจัยด้านพัฒนาเทคโนโลยีในการประเมิน บำบัด ฟื้นฟู จัดการของเสีย และคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมกับภาคการผลิตของประเทศไทย งานวิจัยด้านการพัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรม เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่เหมาะสม รวมถึงงานวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาภาระความรับผิดชอบในการใช้ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอย่างบูรณาการ เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานในการเฝ้าระวังเตือนภัย และจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

 

ในส่วนของผลงานการวิจัยที่นำมาจัดแสดงมากกว่า 1,000 ผลงาน มีผลงานที่น่าสนใจดังนี้

 

นวัตกรรมป้องกันกำจัดยุง LeO-Trap ผลงานวิจัยจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ลักษณะมีรูปร่างคล้ายโอ่งน้ำขนาดจิ๋ว ผลิตจากพลาสติกสีดำ ฝาสูง มีช่องว่างให้ยุงเข้าไปภายในได้ง่าย มีกลิ่นดึงดูดเฉพาะยุงลายให้เข้ามาวางไข่ เพียงแค่เติมน้ำที่ผสมสารกำจัดลูกน้ำยุงซีโอไลท์ไว้ ก็จะช่วยกำจัดลูกน้ำยุงได้แล้ว ซึ่ง LeO-Trap 1 ชิ้นใช้งานได้ 3 เดือน สารดึงดูดที่เคลือบไว้ก็จะหมดอายุ แต่สามารถใช้งานต่อได้ด้วยการติดแผ่นสติกเกอร์ที่เคลือบสารดึงดูดยุงให้ใช้งานได้ต่อ งานนี้ คนไทยมีเฮ ได้กำจัดยุงลายง่าย ห่างไกลโรคไข้เลือดออกกันได้จริง ๆเสียที

 

เจลลี่พร้อมดื่มเพื่อสุขภาพ” ให้ผู้สูงวัย ได้เพลินพุง “อร่อยมีสาระ” ผลงานวิจัยจากอาจารย์ประจำหลักสูตรวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ที่ต้องการหาผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่เหมาะกับคนทุกเพศทุกวัยโดยเฉพาะผู้สูงอายุ ด้วยการสกัดลูกหม่อน มะม่วงน้ำดอกไม้ และคาราจิแนน ซึ่งเป็นสารสกัดจากสาหร่ายทะเลทำให้เป็นเจลลี่ที่มีเนื้อสัมผัสนุ่มเหลว เติมจุลินทรีย์โปรไบโอติก เพื่อส่งเสริมให้ระบบกระเพาะและลำไส้ทำงานได้ดี เจลลี่สูตรนี้จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้สูงอายุที่ไม่ชอบกินโยเกิร์ต หรือเจลลี่ที่ต้องเคี้ยว

 

ผ้ากลีบบัว ผลงานของนักวิจัยแดนอีสาน จากคณะศิลปประยุกต์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้ลงพื้นที่ทำวิจัยร่วมกับชุมชนที่ทอผ้าพื้นเมือง ทอผ้าจากกาบบัว ให้มีเนื้อสัมผัสเหมือนกลีบบัวจริง ๆ โดยเลือก “บัวอุบลสีชมพู” มาเป็นต้นแบบแรงบันดาลใจ ย้อมสีให้ดูเป็นธรรมชาติได้เหมือนสีดอกบัวชมพูที่มีความอ่อน แก่ เหลือบ ใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด เนื้อผ้าจะให้ความรู้สึกละมุนละไม อ่อนหวาน ดุจสัมผัสกลีบบัวธรรมชาติจริง

นอกจากนี้ยังมี เครื่องอบแห้งแบบถังทรงกระบอกหมุนด้วยระบบรังสีอินฟราเรดร่วมกับลมร้อนปล่อยทิ้งแบบเคลื่อนย้ายได้, การพัฒนาบรรจุภัณฑ์จากพลาสติกชีวภาพสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแช่เยือกแข็ง-แช่เย็น, เครื่องวัดความหนาแน่นมวลกระดูก, การตรวจคัดกรองผู้ป่วยเบาหวานขึ้นจอตาอย่างอัตโนมัติจากภาพถ่ายจอตาในรูปแบบแอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน และอื่น  ๆ อีกมากมาย

 

——————————————————————-

 

25 ปี สกว. : สร้างคน สร้างความรู้ สร้างอนาคต

Date : 25-26 สิงหาคม 2560

Venue : รอยัล พารากอน ฮอลล์ 2 สยามพารากอน

Motto : สร้างคน สร้างความรู้ สร้างอนาคต

 

Why This Event Is Matter :

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว. ได้ใช้การวิจัยเป็นกลไกสร้างฐานความรู้สำหรับการแก้ปัญหาให้แก่สังคม และสนับสนุนการวิจัยเพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศมาตลอดเป็นเวลาถึง 25 ปี ในปีนี้ สกว. จึงได้จัดงาน “25 ปี สกว. : สร้างคน สร้างความรู้ สร้างอนาคต” ขึ้นเพื่อสื่อสาร กระบวนคิด วิธีทำงาน และผลงานวิจัย รวมทั้งกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องตลอด 25 ปีที่ได้ดำเนินการมา ตามพันธกิจหลักดังคำขวัญ “สร้างสรรค์ปัญญา เพื่อพัฒนาประเทศ”

Activity:

ภาคนิทรรศการ “สร้างคน สร้างความรู้ สร้างอนาคต”

โซนสร้างคน : สร้างประชาคมวิจัยสู่คนไทย 4.0 พบกับกระบวนการสร้างนักวิจัยต้นแบบ ผู้สรรค์สร้างนวัตกรรมเปลี่ยนประเทศ และนักวิจัยท้องถิ่นผู้สร้างความรู้สู่การพัฒนาชุมชน

 โซนสร้างความรู้ : วิจัยท่องเที่ยวตามรอยพระราชดำริ “แม่ของแผ่นดิน มิ่งขวัญชาวไทย”, ย้อนรอยประวัติศาสตร์อโยธยาศรีรามเทพนคร จากมรดกไทยสู่มรดกโลก, บอร์ดเกมต้านโกง, ตะขาบน้ำตก 1 ใน 10 สปีชีส์ใหม่ของโลก, ต้นแบบหุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิดอีโอดี, ผลิตภัณฑ์เลือดจระเข้ต้านโรค ฯลฯ

โซนสร้างอนาคต : พบกับภาพของการพัฒนาประเทศในอนาคต สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน, การปลูกผักและพรรณไม้น้ำแบบ Zero Waste, เสื้อดมกลิ่นอัจฉริยะ, ผนัง…หนังเหนียว, sQip โรงเรียนแห่งความสุข, Smart Saving เตรียมความพร้อมด้านการเงินสู่ Super Age Society

 

 

 ภาคการประชุมวิชาการ

Small Farm Precision Agriculture Seminar, การป้องกันโรค NCDs ในยุค Aging Society ,การใช้เทคโนโลยีกับสังคม, การสนับสนุนทุนวิจัยของ สกว. และการ Pitching “สร้างสรรค์นวัตกรรมสู่ Thailand 4.0”

ภาคการเสวนา การแสดง และกิจกรรมบนเวที

  • เสวนา “ฝ่าวิกฤติสังคม เปลี่ยนปัจจุบัน เพื่อฝันอนาคต”
  • เสวนา “ปฏิรูปประเทศด้วยนวัตกรรม”
  • เสวนา “สูงวัย อารมณ์ดี”
  • การแสดง “โหมโรงสามประสาน สามวัฒนธรรมชุมชนภาคใต้”
  • Knowledge Farm Talk เสวนาฟาร์มรู้สู่สังคม
  • ฯลฯ

คลินิกวิจัย สกว.

ไขทุกปัญหา พร้อมให้คำปรึกษาหารือเรื่องการรับทุนและการต่อยอดงานวิจัย

 

 ——————————————————————-

การประชุมวิชาการน้ำมันรำข้าวนานาชาติ (The 4th International Conference on Rice Bran Oil 2017)

Date : 24 – 25 สิงหาคม 2560

Venue : โรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส, กรุงเทพมหานคร

 

Why This Event is Matter :

เป็นเวลากว่าสี่ทศวรรษได้รับการยอมรับให้เป็นประเทศผู้นำในการผลิตน้ำมันรำข้าวที่มีคุณภาพ และมีคุณค่าทางโภชนาการที่เหนือกว่า จนได้รับความไว้วางใจในการใช้ประกอบอาหารทั้งในครัวเรือน ในธุรกิจอุตสาหกรรมอาหาร รวมถึงธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องสำอางและธุรกิจโภชนเภสัช เมื่อการเป็นผู้นำหมายถึงการรักษามาตรฐาน และพัฒนาต่อยอดสิ่งดีๆ ที่มีอยู้ให้ดียิ่งขึ้นไป จึงเป็นที่มาของการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในครั้งนี้ของประเทศไทยเป็นครั้งที่สอง โดยมหาวิทยาลัยนเรศวร และ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก.

ในการประชุมครั้งนี้เนื้อหาหลักจะเน้นที่คุณค่าอันเป็นสิ่งดีที่ถูกสะสมอยู่ในน้ำมันรำข้าวเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตให้แก่มนุษย์ รวมถึงเนื้อหาการประชุมสัมมนาที่เกี่ยวกับโอกาสในการเจริญเติบโตอย่างครบวงจรในภาคธุรกิจการส่งออกน้ำมันรำข้าวของไทยในวันนี้และในอนาคต โดยการประชุมครั้งนี้มุ่งหวังว่าจะเป็นการสื่อสารให้โลกได้รับรู้และเข้าใจถึงการเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีจากน้ำมันรำข้าว

mkteventmag
No Comments

Post a Comment