Top

เมื่อประเทศเยอรมนีวางแผนรับมือกับมลพิษทางอากาศ

เมื่อประเทศเยอรมนีวางแผนรับมือกับมลพิษทางอากาศ

Text : Extremely Green

 

ประเทศไทยในยุคที่โซเชียลมีเดียครอบครอง มีเรื่อง มีประเด็นให้ดรามากันได้แทบทุกวัน ก็นับว่าเป็นสีสันที่ทำให้ชีวิตไม่น่าเบื่อจนเกินไปในวันที่เราไม่สามารถทำอะไรได้มากมายนัก

เราดรามา แสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนเชิงวิขาการ หรือแลกหมัดด้วยถ้อยคำเผ็ดร้อนกันได้ทุกเรื่อง ตั้งแต่เรื่องศาสนา เศรษฐกิจ สังคม ความรัก รถยนต์ อาหารการกิน อะไรอื่นอีกร้อยแปดจิปาถะ แล้วแต่ว่าวันนั้นในเฟซบุ๊กจะมีเรื่องอะไรมาให้เสพ

 

 

ในช่วงต้นเดือนกุมภาที่ผ่านมามีประเด็นสิ่งแวดล้อมแรง ๆ นอกจากเรื่อง ‘เปรมชัยล่าสัตว์ เปรมชัยล่าสัตว์’ ที่สามารถดึงความสนใจให้คนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนเมืองในกรุงเทพมหานคร ได้สนใจ ได้พูด ได้ใช้อารมณ์ร่วมกันในทุกช่องทาง เห็นจะหนีไม่พ้นเรื่อง ‘วิกฤติฝุ่นละออง PM 2.5’ ในกรุงเทพฯ ที่พุ่งสูง 48-67 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้  59 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

 

ส่วนเรื่องราวจะเป็นอย่างไร ใครจะแตกตื่นเท่าใด หรือทาง กทม. จะแก้ไขปัญหาได้น่าปรบมือไว้อาลัยได้ดีขนาดไหน เชื่อว่าคุณคงรู้ทั้งหมดแล้ว แต่ที่อยากจะพูดในคอลัมน์นี้ก็แค่อยากจะบอกว่า ไม่ใช่แค่ประเทศไทย หรือกรุงเทพฯ ที่ต้องผจญปัญหาจากวิกฤตมลพิษเสียเมื่อไหร่ เพราะยังมีอีกหลายประเทศที่ต้องผจญกับเรื่องนี้ เพียงแต่วิธีการรับมือ การแก้ปัญหาของแต่ละประเทศต่างหากที่แตกต่างออกไป

 

เข้าเรื่องของเราเลยดีกว่า ประเทศเยอรมนี คือประเทศที่คุณภาพของอากาศจัดอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าค่ามาตรฐานที่สหภาพยุโรปตั้งไว้ โดยเฉพาะในเมืองหลวงใหญ่ ๆ นั้นเต็มเป็นด้วยมลพิษทางอากาศ จากการปล่อยของเสียควันดำของรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซล ซึ่งใครก็รู้ว่าเป็นหนึ่งในรูปแบบยานยนต์ที่ชาวเยอรมันชอบใช้ แถมที่นี่ยังเป็นฐานการผลิตใหญ่ของรถยนต์หลายแบรนด์ชื่อดังในโลก

 

จึงไม่แปลกใจที่ทำไมค่ามลพิษจึงพุ่งสูงปรี๊ดเกินกว่าค่ามาตรฐานที่ตั้งไว้ และทางรัฐบาลที่นำโดย นางแองเกลา แมร์เกล ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาดังกล่าว อย่างที่สาธารณสุขบางประเทศสั่งให้คนใช้ผ้าชุบน้ำปิดปากกันฝุ่น แต่ด้วยความเป็นประเทศพัฒนา พวกเขาจึงค้นลึกไปในใจกลางประเด็นเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

 

เมื่อสื่อชื่อดังของเยอรมนีอย่าง Die Welt ได้เสนอข่าวว่าตอนนี้เยอรมนีเตรียมที่จะเสนอโครงการการใช้ระบบขนส่งมวลชนฟรีให้แก่ประชาชนในเร็ว ๆ นี้ หลักใหญ่ใจความของโครงการนี้ก็คือ การเสนอแผนเพื่อลดการปล่อยก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ในอากาศ ด้วยการสร้างเมืองทั้งเมือ หรือเขตทั้งเขตให้กลายเป็น ‘โซนมลภาวะต่ำ’

 

ซึ่งในพื้นที่ดังกล่าวนี้ทางสื่อได้มีการเปิดเผยว่า จะเปิดให้ประชาชนได้ใช้ระบบขนส่งมวลชนทุกชนิดแบบฟรี ๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนที่ขับรถทั้งหลายหันมาใช้งาน เพื่อลดการปล่อยเขม่าควันเสีย แลฝุ่นละอองจากการเผาไหม้ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ

 

ยังไม่พอแค่นั้น พวกเขายังมองลึกไปอีกถึงพาหนะขนส่งมวลชนหลักอย่างรถประจำทาง เพราะเอาเข้าจริงรถเหล่านั้นก็ใช้น้ำมันดีเซลเช่นกัน ดังนั้นถ้าจะให้ยั่งยืนกันจริง ก็ต้องเปลี่ยนระบบขนส่งมวลชนที่ใช้พลังงานสะอาดอย่างแท้จริง นั่นคือการใช้รถบัสพลังงานไฟฟ้า

 

แถมยังวางแผนไว้อีกชั้นนึงเพื่อเพิ่มความเข้มข้นให้กับการสร้างเมืองพลังงานไฟฟ้า ด้วยการเพิ่มสถานีชาร์จไฟฟ้าให้กับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ได้รับการอนุญาตให้เข้ามาวิ่งในพื้นที่นี้ได้นั่นเอง

 

โดยนโยบายดังกล่าวทางรัฐบาลเยอรมนีได้มองไว้ว่าจะเริ่มทำในเมืองเล็กก่อน แล้วจึงขยายไปสู่สเกลใหญ่ในมหานครหลวงของประเทศ โดยพื้นที่ ๆ วางแผนไว้เพื่อการสร้างโซนมลภาวะต่ำก็คือ เมือง Bonn, Essen, Reutlingen, Mannheim และเมือง Herrenberg ที่อยู่ทางตอนใต้ของเมือง Stuttgart

 

อย่างไรก็ตามการดำเนินนโยบายดังกล่าวก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะยังมีคำถามตามมาอีกมากมาย เช่น จะมีบริษัทไหนบ้างที่จะสามารถผลิตกองทัพรถบัสไฟฟ้ามาส่งมอบให้ในระยะเวลาอันสั้น รวมถึงพลังงานไฟฟ้ากว่า 40% มาจากการเผาไหม้ของถ่านหินลิกไนต์ ซึ่งก็เป็นอันตรายต่อสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมเช่นกัน

 

เชื่อว่าตอนนี้รัฐบาลของเยอรมนีคงกำลังเร่งมือในการหาทางออกที่รัดกุมที่สุด เพราะหากทำได้นอกจากจะได้บรรยากาศที่บริสุทธิ์เพิ่มขึ้นแล้ว คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนก็ต้องเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน แถมยังเป็นแผนแยบยลที่ท้าทายให้คนหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนได้อย่างสะดวกใจอีกด้วย

         

 

        ซึ่งทั้งหมดก็น่าจะดีและยั่งยืนกว่าการไปฉีดน้ำ กวาดพื้น หรือไปไล่ฉีดละอองน้ำไล่ฝุ่นควันอะไรแบบนั้นแน่นอน

mkteventmag
No Comments

Post a Comment