Top

การพัฒนา SME ให้ยั่งยืนด้วยนวัตกรรมและทรัพย์สินทางปัญญา

การพัฒนา SME ให้ยั่งยืนด้วยนวัตกรรมและทรัพย์สินทางปัญญา

             เป็นที่ทราบกันดีว่าในปัจจุบันธุรกิจ SME ต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนไปจากกิจการที่เน้นการรับจ้างผลิตและใช้แรงงานเป็นหลัก ประกอบกับการเข้าสู่ AEC ที่ทำให้มีคู่แข่งเพิ่มขึ้น สิ่งเหล่านี้ ทำให้ SME ต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมายโดยเฉพาะในเรื่องของการแข่งราคาในสภาวะที่ต้นทุนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และอุปสรรคชนิดใหม่อย่างเช่น การใช้กลยุทธ์ทางทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อกีดกันคู่แข่ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เป็นแค่อุปสรรคแต่ถือเป็นโอกาสด้วยเช่นกัน โอกาสในการยกระดับธุรกิจ การขยายธุรกิจสู่ต่างประเทศ การเรียนรู้กลยุทธ์ใหม่ ๆ และนำมาใช้ประโยชน์ ซึ่งภาครัฐเค้าก็ออกมาตรการสนับสนุนมาให้จำนวนมากครับ แต่ท่านต้องปรับตัวด้วยแนวทางที่เหมาะสมอย่างทันสมัย บริษัทของท่านก็จะเติบโตไปได้อีกไกลเลยครับ ก่อนอื่นขอให้ทำความรู้จักกับคำนี้ก่อนนะครับ

คำว่า “IP ย่อมาจาก Intellectual Property แปลว่า ทรัพย์สินทางปัญญา

มาต่อกันที่แนวทางการยกระดับองค์กรที่ผมสรุปมาให้ 3 ส่วนหลัก ๆ ดังนี้ครับ

1. Innovation Process การพัฒนากระบวนการสร้างสรรค์นวัตกรรมนั้นต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์เพื่อให้นวัตกรรมมีศักยภาพที่สูงขึ้นโดยเฉพาะนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี ที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์มีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างคาดไม่ถึง ซึ่งบางครั้งเทคโนโลยีเหล่านี้มีอำนาจต่อรองมากกว่าเงินจำนวนหลายล้านครับ เช่น หากท่านมีเทคโนโลยีที่เปลี่ยนน้ำให้เป็นน้ำมันได้ในขั้นตอนเดียว ท่านคิดว่าจะมีกี่บริษัทที่อยากได้เทคโนโลยีนี้ และหากขายสิทธิ์การใช้เทคโนโลยี (Technology Licensing) จะมีมูลค่าเท่าไหร่ดีครับ……..เห็นไหมครับท่านได้อำนาจต่อรองในการเลือก Partner มาไว้ในกำมือแล้วครับ

 Inno VS IP_IPCO

แต่ก่อนที่ท่านจะได้นวัตกรรมเหล่านี้มา ท่านต้องเรียนรู้กระบวนการแล้วนำไปปรับใช้ให้เหมาะสม (ขอลงเทคนิคตามภาพด้านบนเพื่อความเข้าใจนะครับ) เช่น ศึกษาความเป็นไปได้ของเทคโนโลยี (Feasibility Study) ทั้งด้านเทคนิคและความต้องการของตลาด (Market Survey) รวมทั้งแนวโน้มและเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วในระดับสากล ด้วยการสืบค้นสิทธิบัตร (Patent Search& Mapping) ก่อนการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อประเมินว่างานวิจัยนั้นมีศักยภาพในเชิงพาณิชย์หรือไม่ ถ้ามี ควรพัฒนาขึ้นเองหรือซื้อ License โดยพิจารณาจากช่วงเวลาที่ต้องเข้าสู่ตลาด (Time to Market) รวมทั้งศักยภาพและความคุ้มค่าที่จะพัฒนาขึ้นเอง เป็นต้น และเมื่อได้นวัตกรรมที่มีศักยภาพในเชิงพาณิชย์แล้วท่านต้องหาวิธีรักษาสิทธิ์ของท่านที่เหมาะสม หลังจากนั้นท่านจะมีตัวเลือกในการทำธุรกิจเพิ่มขึ้นอีกมาก เช่น การผลิตเป็นสินค้าออกสู่ตลาดเอง หรือ ท่านจะขายสิทธิ์การใช้เทคโนโลยีให้กับอุตสาหกรรมอื่น หรือ ขายสิทธิ์ให้กับบริษัทในประเทศอื่นที่ท่านไม่มีแผนที่จะขยายตลาดไปประเทศนั้น เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ท่านสามารถสร้างรายได้เพิ่มเติมโดยไม่ต้องลงทุนเพิ่มหรือรับความเสี่ยงในทางธุรกิจเพิ่มขึ้นได้ แต่ก่อนทำการค้าเหล่านี้ท่านต้องรู้เพิ่มอีก 2 สิ่ง คือ การประเมินมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญา (IP Valuation) และการตรวจสอบทรัพย์สินทางปัญญา (IP Due Diligence) ครับ ศาสตร์เหล่านี้อาจจะฟังดูไม่ง่ายต่อการเข้าใจแต่จะทำให้ผู้ที่เข้าใจเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปครับ

 

2. IP Management วิธีการรักษาสิทธิ์ในนวัตกรรมด้วยเครื่องมือที่เหมาะสมจะเป็นการเพิ่ม Value ให้กับนวัตกรรมของท่านอย่างยิ่งยวดนั่นคือศิลปะแห่งการจัดการทรัพย์สินทางปัญญา (IP Management) ให้ท่านบริหาร IP ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตรงเป้าหมายที่ต้องการ เลือกใช้ IP ได้ถูกประเภท สร้างโอกาสทางธุรกิจ ไม่เสียโอกาสที่ไม่ควรเสียประหยัดค่าใช้จ่าย และเหมาะสมกับรูปแบบธุรกิจหรือผลงานนวัตกรรมแต่ละชนิด รวมถึงการวางกลยุทธ์ด้าน IP ให้เพิ่มความได้เปรียบทางการแข่งขันได้เนื่องจาก IP มีหลายประเภท เช่น  สิทธิบัตร อนุสิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ ความลับทางการค้า และตราสินค้า เป็นต้น ซึ่งแต่ละชนิดมีเป้าหมายการคุ้มครอง อายุการคุ้มครอง กระบวนการพิจารณา ค่าใช้จ่าย ศักยภาพของการสร้าง Value และประสิทธิภาพการคุ้มครองที่ต่างกันโดยมีคุณสมบัติโดยสังเขปดังนี้

IP Table

แต่หากใช้ IP ผิดประเภทก็จะสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ อาจเปรียบเทียบให้เห็นภาพได้ เช่น ท่านจะส่งไข่ไก่ 1 โหลให้ลูกค้าหน้าปากซอยโดยใช้รถบรรทุก 10 ล้อ ซึ่งส่งถึงที่หมายแน่นอน แต่…….

พอเห็นภาพนะครับทั้งนี้ผมขออนุมานลักษณะโดยสรุปของ IP ว่า “IP อาจเปรียบเสมือน มีดที่วางไว้อยู่ตรงหน้าท่าน ท่านจะวางไว้อย่างนั้นแล้วให้คนอื่นมาหยิบไป หรือ ท่านจะนำมาใช้ประโยชน์เอง เช่น ปอกผลไม้ หรือใช้ถือไว้เพื่อป้องกันตัวไม่ให้คนอื่น ๆ เข้ามารังแกท่านก็ได้ครับ”

 

3. Business Model การพัฒนารูปแบบธุรกิจให้มีความได้เปรียบโดยมีการวางแผนไว้ล่วงหน้าอย่างรัดกุมเพราะหากวางแผนไว้ไม่ดีพออาจทำให้ท่านเสียโอกาสทางธุรกิจและมาตรการสนับสนุนที่รัฐมีให้ไปได้โดยผมขอแนะนำแนวทางการพัฒนา Business Model ที่อาจเริ่มด้วยการศึกษาตลาดและวิเคราะห์ปัจจัยแวดล้อมและปัจจัยภายในโดยนำ 5 Force Model และ SWOT หรือ Business Canvas เข้ามาประยุกต์ใช้ แล้วนำข้อมูลทั้งหมดมาสังเคราะห์Business Model ของท่านให้มีรูปแบบสอดรับกับความต้องการของตลาดและมาตรการสนับสนุนที่รัฐมี โดยส่งเสริมจุดเด่นและลดจุดอ่อนของธุรกิจไปด้วย โดยมีผู้เชี่ยวชาญหลาย ๆ ท่านช่วยเสนอแนะข้อคิดเห็นต่าง ๆ แล้วนำมาปรับใช้ครับ

แนวทางทั้ง 3 นี้ไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ผมมั่นใจว่าทุกท่านสามารถยกระดับองค์กรให้ยั่งยืนได้แน่นอนครับ

MR-MJ

ผู้เขียน

เมธา จารัตนากร
กรรมการผู้จัดการ
บริษัท ไอพี คอมเมิร์ซ จำกัด

mktevent
No Comments

Post a Comment