Top

Event’s Trends and Creativitiesm

Event’s Trends and Creativitiesm

เทรนด์และความคิดสร้างสรรค์การจัดงาน (Event) : ศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) ไทย

Event’s Trends and Creativitiesm : Potential for MICE Industry in Thailand

 

               เมื่อกล่าวถึงศักยภาพของอุตสาหกรรมไมซ์ ปัจจัยพื้นฐานด้านกายภาพต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับอุตสาหกรรมไมซ์จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ถูกนำมาพิจารณา เช่น ปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศและของเมือง (Infrastructure) สถานที่จัดงานและพื้นที่การจัดงาน (Venues/Spaces) สิ่งอำนวยความสะดวก (Facilities) สถานที่พักแรม (Accommodations) แหล่งท่องเที่ยวที่ดึงดูด (Attractions) ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญในสาขาอาชีพที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม เช่น ผู้บริหารการจัดงาน (Organizers) ผู้จัดการขนส่งสินค้า (Freight Forwarder) ผู้รับเหมาก่อสร้าง (Contractors) เป็นต้น

ในขณะที่ประเทศไทยยังมีทุนทางสังคมและวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง มีความแตกต่างที่เป็นจุดเด่นด้านขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปวัฒนธรรม กีฬา การละเล่นพื้นบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่น วิถีชีวิตชุมชนที่มีรูปแบบที่เรียบง่าย เน้นเป็นมิตรกับธรรมชาติตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดจนการให้ความสำคัญกับสถาบันครอบครัวและทัศนคติที่ดีงามของคนไทย ซึ่งถือว่าเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า อันส่งผลให้เกิดการสร้างสรรค์กิจกรรมการจัดงานที่มีความแตกต่างและหลากหลาย สะท้อนให้เห็นการบูรณาการจุดเด่นดังกล่าวในเทศกาลงานต่าง ๆ ที่ปรากฏตามปีปฏิทินการท่องเที่ยวของประเทศไทย นอกจากนี้จะเห็นว่าเทรนด์การจัดงานในปัจจุบันที่มีแนวคิดใหม่ ๆ โดยผ่านกระบวนการคิดสร้างสรรค์นำไปสู่ “แนวทาง” (Theme) การจัดงานที่แตกต่างในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นการจัดงานระดับภายในองค์กร (Corporate Events) เช่น การจัดงานประชุมแบบ Green Meeting, ระดับบุคคล (Personal Events) เช่น การจัดงานแต่งงานแบบ Eco wedding ที่อนุรักษ์ความเป็นไทยและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม หรือการจัดงานระดับเมือง (Public Events) เช่น เทศกาลวันแม่ที่จัดกิจกรรมการเดิน-วิ่งเพื่อสุขภาพแสดงความรักต่อคุณแม่ในรูปแบบการชักชวนคุณแม่ออกกำลังกายเพื่อส่งเสริมสุขภาพ ทั้งนี้การนำทรัพยากรที่มีคุณค่าที่เป็นจุดเด่นและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเมืองหรือประเทศเป็นปัจจัยนำเข้า (Input) ในการสร้างสรรค์เทรนด์การจัดงานนั้น ย่อมจะส่งผลให้ “Events” นั้นมีความมั่นคง ลอกเลียนแบบได้ยาก และยั่งยืนทั้งทางด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ ทำให้ภาพรวมของเม็ดเงินค่าใช้จ่ายในการประกอบกิจกรรมต่าง ๆ และการเดินทางเข้าร่วมงานสามารถเติบโตและสะพัดไปสู่ผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง

ทั้งนี้เมื่อต้นเดือนกันยายน 2558 ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมงานโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับพันธมิตรและหน่วยงานภาครัฐ เพื่อพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศ (Familiarization Trip 2015) ซึ่งจัดโดยสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์กรการมหาชน) หรือ สสปน. โดยมีการจัดงานในภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมไมซ์และการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศไทยให้มากยิ่งขึ้น และการจัดงานครั้งนี้เป็นการจัดงานให้แก่ สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาในจังหวัดในเขตพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก (25 จังหวัด) โดยมีผู้แทนสมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) (TICA), ผู้แทนสมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) (TEA), ผู้แทนสมาคมธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงาน (EMA), ร่วมเสวนาแสดงความคิดเห็นและให้มุมมองเรื่อง จุดเด่น โอกาส และศักยภาพของจังหวัดต่าง ๆ ในด้านสถานที่จัดงานและพื้นที่การจัดงาน กิจกรรมการจัดงาน และการนำองค์ความรู้และข้อมูลไปสู่การประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เพื่อพัฒนายกระดับการจัดงานอุตสาหกรรมไมซ์ของจังหวัดในเขตพื้นที่จังหวัด ให้มีมาตรฐานในระดับสากล

จากการประชุมพบว่านอกจากการจัดงานในกลุ่มไมซ์ (Meeting, Incentive, Convention, Exhibition) ที่มุ่งเน้นและมีบทบาทสำคัญในการเป็นเครื่องมือทางการตลาดให้ธุรกิจทุกระดับแล้ว จังหวัดต่าง ๆ ที่เข้าร่วมก็มีศักยภาพในการนำทรัพยากรดังที่ผู้เขียนได้กล่าวเกริ่นนำแล้วข้างต้น มาสร้างสรรค์การจัดงานที่มีลักษณะเป็นเทศกาลและกิจกรรมที่มีรูปแบบหลากหลายในพื้นที่ที่พร้อมจะถูกหยิบยกขึ้นมาพัฒนาให้เป็นการจัดงานระดับชาติหรือระดับนานาชาติได้อย่างมีนัยสำคัญทางเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งพอสรุปประเภทการจัดงานได้ตามกรอบของวัตถุประสงค์การจัดงานที่ผู้เขียนได้ประยุกต์จากแนวคิดของ Glenn McCartney ที่เรียบเรียงในหนังสือ Event Management: an Asian Perspective (McCartney, 2010) ดังนี้ MICE Event (Business Event), Sport Events,Cultural Events, Arts/Music Events, Recreational Events, Special Events, Private Events (McCartney, 2010)

แต่อย่างไรก็ตามการจัดงานแต่ละประเภทจะต้องให้ความสำคัญในเรื่องเนื้อหาสาระที่เน้นคุณค่าของงานที่ต้องอาศัยทุนทางสังคมและวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง และจำเป็นต้องมีการประชาสัมพันธ์กิจกรรมด้านการตลาด (Marketing Event) ของจังหวัด เพื่อสร้างกระแสให้เกิดความนิยมในกลุ่มนักเดินทางให้มาท่องเที่ยวและเข้าร่วมงานในจังหวัดมากยิ่งขึ้น อีกทั้งการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไมซ์ในประเทศไทยต้องอาศัยความร่วมมืออย่างจริงจังจริงใจ จากเครือข่ายผู้มีส่วนได้เสียในการจัดงาน เช่น สมคมและชมรมต่าง ๆ, หน่วยงานที่ทำหน้าที่สื่อประชาสัมพันธ์ทั้งภาครัฐและเอกชน, ชุมชนที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ, ผู้สนับสนุนงาน, ผู้เข้าร่วมงาน, สถานที่จัดงาน, สถานที่พัก, ภาคการค้าขายของท้องถิ่น, ระบบการขนส่ง, รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ, ผู้บริหารการจัดงาน เป็นต้น

อุตสาหกรรมไมซ์และการจัดงานไม่ต่างจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่มีความอ่อนไหวต่อปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติ คำเตือน หรือข่าวที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ความไม่สงบ แต่หากทุกภาคส่วนร่วมมือร่วมใจกันสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการจัดงาน ตลอดจนการเตรียมความพร้อมเพื่อป้องกันและรับมือต่อความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในทุกขณะ ซึ่งผู้เขียนเชื่อเหลือเกินว่าคนไทยเรามีศักยภาพมากพอที่จะช่วยกันผลักดันอุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศให้เติบโต สามารถยกระดับของงานในระดับท้องถิ่นให้เป็นระดับชาติ และระดับชาติไปสู่ระดับนานาชาติ มีความเชี่ยวชาญตลอดจนสามารถดึงงานระดับ Mega Event มาจัดในประเทศได้ในที่สุด

       ในอดีตการจัดกิจกรรมขององค์กรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดประชุม การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล การจัดสัมมนา และการจัดงานแสดงสินค้า นิยมจัดในแถมภูมิภาคยุโรป เนื่องจากเป็นที่ตั้งของบริษัทใหญ่ของบริษัทข้ามชาติและองค์กรระหว่างประเทศ แต่เมื่อพิจารณาข้อมูลจากรายงาน Statistic Report 2002-2011 โดย International Congress and Convention Association (ICCA) ที่ได้สะท้อนให้เห็นว่า สัดส่วนการจัดประชุมในปี พ.ศ. 2546 ที่กระจุกตัวอยู่ในภูมิภาคยุโรปประมาณร้อยละ 57 ของการจัดประชุมทั่วโลก มีแนวโน้มค่อย ๆ ลดลงมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 54 ในปี พ.ศ. 2554 ในขณะที่สัดส่วนจำนวนการจัดประชุมในภูมิภาคเอเชียและตะวันออกกลางในปี พ.ศ. 2546 ที่คิดเป็นร้อยละ 14 ของการจัดงานประชุมทั่วโลก มีแนวโน้มค่อย ๆ เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 17 ในปี พ.ศ. 2554 ซึ่งมีมูลค่ารายได้รวม 4,060 ล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ในปัจจุบันภูมิภาคเอเชียได้มีโอกาสจัดงานขนาดใหญ่ “Mega Events” เช่น การจัดโอลิมปิกที่กรุงปักกิ่งในปี 2008 หรือ World Expo ที่เซียงไฮ้ ปี 2010 หรืองาน IDT Expo / World SME Expo / BIP Asia Forum ที่จัดอย่างต่อเนื่องในฮ่องกง เป็นต้น  ดังนั้นในอนาคตต่อไปประเทศไทยย่อมมีโอกาสที่จะจัดงานระดับ Mega Eventsได้ 

 

ผศ.รท.(หญิง)ดร.เกิดศิริ  เจริญวิศาล

คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากร

mktevent
No Comments

Post a Comment