Top

The Legend of the CMO Group

The Legend of the CMO Group

Text : Boonake A.
Photo : Wiriya L.

เสริมคุณ คุณาวงศ์

The Legend of the CMO Group

 

ท่ามกลางบรรยากาศเฉลิมฉลอง 30 ปี CMO Group – The Endless Evolution” ตระการตาด้วยแสงไฟหลากสีสันที่สว่างวาบพร้อมด้วยเทคโนโลยีมัลติมีเดียที่สะกดสายตาทุกคู่ เสียงปรบมือดังกระหึ่มขึ้นหลังจากจบวีดีโอพรีเซนเทชั่นบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมากว่า 3 ทศวรรษของบริษัทอีเว้นท์ระดับตำนาน เป็นภาพแห่งความประทับใจที่น่าจดจำ

แม้แต่ตัวผมเองที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรยังพลอยตื้นตันไปกับความสำเร็จนั้นด้วย แล้วคุณลองคิดดูซิว่าคนที่อยู่เบื้องหลังทุกขั้นตอนในการปลุกปั้น CMO Group ขึ้นมาตั้งแต่เริ่มตั้งไข่ จนเติบใหญ่เป็นออแกไนเซอร์อันดับ 1 ของประเทศ เขาจะมีความสุขกับภาพตรงนั้นขนาดไหน และคนที่อยู่เบื้องหลังที่ว่าคงจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก ‘เสริมคุณ คุณาวงศ์’ ผู้ก่อตั้ง CMO Group ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทฯ ที่ผมเชื่อว่าเขาคงมองภาพนั้นด้วยความรู้สึกยากที่จะบรรยายมากมายกว่าผมเป็นร้อยเป็นพันเท่า

ในห้วงเวลาที่ CMO ผ่านกาลเวลาในการก่อร่างสร้างตัวมาอย่างยาวนาน จนสามารถสร้างปรากฏการณ์ในวงการอีเว้นท์มานับครั้งไม่ถ้วน รวมถึงการเป็นแหล่งบ่มเพาะบุคลากรชั้นนำในอุตสาหกรรมการจัดงานทุกรูปแบบ ในรายละเอียดย่อมมีเรื่องราวมากมายที่น่าจดจำเกิดขึ้น และแน่นอนว่ามันสามารถสะท้อนภาพรวมประวัติศาสตร์ของวงการอีเว้นท์บ้านเราได้อย่างชัดเจนแน่นอน

 

โอกาสดี ๆ แบบนี้คงมีไม่กี่หน MKT Event จึงอยากพาท่านผู้อ่านย้อนเวลาไปสำรวจตรวจสอบเรื่องราวการถือกำเนิดเกิดขึ้นของ CMO นับตั้งแต่วันแรกจนถึงปัจจุบันบนยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ผ่านการเล่ายาวรวดเดียวโดยละเอียดของ เสริมคุณ คุณาวงศ์ โดยผมจะแทรกเข้ามาถามเขาเมื่อเรื่องดำเนินมาถึงยุคปัจจุบัน เพื่อนำไปสู่การตั้งคำถามเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ในการสร้างองค์กรให้เป็นอมตะในอนาคต นับจากนี้

 

ยุคที่ 1 : จุดเริ่มต้นนับหนึ่งของธุรกิจอีเว้นท์ในประเทศไทย

“เริ่มต้นในปี 2529 น่าจะเป็นในยุคแรกของการมีอีเว้นท์ การสร้างงานทั้งหมดจะอยู่ในการบริหารจัดการและการสร้างสรรค์ของเอเจนซีโฆษณา คือเรียกได้ว่าทั้งหมดอยู่ในมือเอเจนซีเจ้าใหญ่ ๆ เช่น ลินตัส โอกิลวี เดท์สุ และแมคแคนอีริคสัน ซึ่งเอเจนซีเหล่านั้นก็ให้ซัพพลายสินค้ากับบริษัทริเวอร์บราเธอร์ ซึ่งปัจจุบันนี้ก็คือยูนิลีเวอร์ รวมถึงสินค้าอื่น ๆ เช่น เบียร์สิงห์ รถยนต์โตโยต้า เป็นต้น ส่วนกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มสื่อสาร กลุ่มธนาคารยังไม่ได้เข้ามาใช้บริการเอเจนซี”

“นั่นหมายความว่าเม็ดเงินที่จะเชื่อมโยงกับธุรกิจอีเว้นท์มันจำกัดอยู่แค่ไม่กี่อุตสาหกรรม และลักษณะของงานที่จัดมีแค่ 3 ประเภทหลัก ๆ เช่น Sale Conference, Dealer Conference และงานเปิดตัวสินค้า ซึ่งจะไปผนวกกับงานใหญ่ ๆ เช่น งานกาชาด งานมอเตอร์โชว์ที่สวนอัมพร”

“ส่วนงานทางด้านโปรดักชั่นประเภทเดียวที่มีในช่วงนั้นก็คือ Multi Vision Slide เพราะฉะนั้นจึงเกิดบริษัท Multi Vision Slide ขึ้นมา เช่น บ.สตูดิโอเทน, บ.มัลติมีเดีย, บ.ดิอายส์ ซึ่งเป็นธุรกิจแรกของเราก่อนจะเป็น CM รวมถึง บ.นูโว, บ.มิราจ อันนี้เป็นตัวอย่างของชื่อบริษัทชั้นนำที่เป็นซัพพลายทางด้านนี้ ซึ่งตอนนั้นเราเรียกว่างานพรีเซนเทชั่น องค์ประกอบงานจะมีแค่ การกล่าวเปิดงาน, การฉายภาพยนตร์ Multi Vision Slide และ Slide Presentation เปิดประกอบการพูด”

“ถัดจากนั้นมาอีก 6 ปี เข้าสู่ปี 2535 เริ่มมีเครื่องฉายวิดีโอ จึงมีการผลิตสไลด์ผสมวีดีโอ เรียกว่า Slide Mix Video ในช่วงนั้นเศรษฐกิจไทยมันก็เริ่มเติบโตและค่อย ๆ เริ่มมีงานขายตรงเป็นอีเว้นท์สำคัญเพิ่มขึ้น เช่น งานขายจักรซิงเกอร์ที่มีวิธีการขายแบบกึ่ง ๆ MLM เช่น สุพรีเดอร์ม และอีกหลายแบรนด์ก็เริ่มหันมาใช้อีเว้นท์เป็นเครื่องมือทางการตลาดแบบเป็นเรื่องเป็นราว พร้อมกับการเกิดขึ้นของยุคฟองสบู่”

“ยุคฟองสบู่มันก็เป็นยุคของอสังหาฯ สนามกอล์ฟ คอนโด ศูนย์การค้า เพราะฉะนั้นการเปิดตัวศูนย์การค้าก็เริ่มมีการใช้อีเว้นท์ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตัวเดอะมอลล์-ท่าพระที่เปิดในศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งก็ใช้ Multi Vision Slide แบบยาว ๆ ซึ่งอีเว้นท์แบบนี้ถูกนำไปใช้กับการเปิดตัวโรบินสันรัชดา ฟิวเจอร์ปาร์ครังสิต ด้วยเช่นกัน ทางห้างฯ จะจัดอีเว้นท์เปิดตัวก่อนเพื่อประกาศขายพื้นที่ร้านค้าในศูนย์การค้า ส่วนสนามกอล์ฟจำเป็นต้องใช้อีเว้นท์มาก เพราะมันไม่มีสนามกอล์ฟจริงในวันที่เขาขายเมมเบอร์ ดังนั้นตัวงานที่จัดมันเป็นการสร้างภาพแล้วเชิญคนมาดู เพื่อบอกว่ามีเมมเบอร์ ราคาเท่าไหร่ให้คนมาจองเก็งกำไร คอนโดมีเนียมก็เช่นเดียวกัน”

 

ยุคที่ 2 : เข้าสู่ยุคฟองสบู่ จุดเริ่มต้น และพัฒนาการของธุรกิจอีเว้นท์รูปแบบใหม่

“ในช่วงปี 40 เราจะเรียกยุคนี้ว่าเป็นยุคการกำเนิดของออแกไนเซอร์ก็ได้ เริ่มมีกิจกรรมการตลาดแบบ Consumer เกิดขึ้น ซึ่งก็มีแคมเปญที่น่าจดจำอย่าง ‘Nescafe Extra Shake’ สิ่งที่ทำให้แคมเปญนี้มีชื่อเสียงคือเขาถ่ายทำหนังโฆษณาในรูปแบบที่เหมือนกับเป็นอีเว้นท์ มีการเขย่า ๆ มีคนดู มีคนเฮ แล้วภาพของกิจกรรมก็ไปอยู่ในหนังโฆษณาด้วย ตรงนี้ทำให้เกิดภาพจำในเรื่องของการที่อีเว้นท์เข้ามามีบทบาททางด้านการตลาด ตั้งแต่นั้นมาอีเว้นท์จึงเข้ามาเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบของกิจกรรมทางการตลาด แต่ในส่วนการจัด Dealer Conference ก็ยังมีอยู่ และมีกลุ่มสินค้าที่เริ่มเข้ามาจัดอีเว้นท์เพิ่ม เช่น กลุ่ม Home Appliance อย่าง Philips Whirlpool (เครื่องซักผ้า ตู้เย็น), National, Panasonic”

“ในส่วนของ CM  ช่วงนั้นเราก็มีลูกค้าพวก Consumer Product เยอะ ก็ทำงานเปิดตัวต่อเนื่อง แต่ที่เปลี่ยนไปคือสถานที่เปิดตัวที่เริ่มย้ายไปอยู่ในห้างสรรพสินค้า เป็นการเปิดตัวแชมพูแพนทีนครั้งแรกในประเทศไทย เปิดตัวแชมพูวิดัล แซสซูนครั้งแรกในประเทศไทย แพนทีนนี่เปิดตัวครั้งแรกที่เซ็นทรัลลาดพร้าว ตอนนั้นห้องยอดนิยมสำหรับการจัดงานมากก็จะมีห้อง Bangkok Convention Center ซึ่งเพิ่งเปิดไม่นาน แล้วก็ศูนย์สิริกิติ์ คือ NCC Hall เปิดแรก ๆ ก็มีจัดงานเปิดตัวแก่งกระจานคันทรีคลับ  ถือเป็นงานแรกที่จัดเต็มเพลนนารีฮอล์ แบบ 4,000 ตารางเมตร แล้วมี Multi Vision Slide อยู่ตรงกลาง ข้าง ๆ ใส่ตัวน้ำพุเต้นระบำสูง 6 เมตรเข้าไป 4 วง เป็นครั้งแรกที่เอาน้ำพุไปใส่ในห้องที่เป็น In door”

“ตอนนั้นเราก็ได้ซื้อ TV Wall มาให้บริการที่ PM (บริษัท พีเอ็ม เซ็นเตอร์ จำกัด) คือในยุคแรก PM ก็ให้บริการตามยุคนี้เลย ก็คือ Slide แต่บริษัทที่ให้บริการด้านวีดีโอที่เอามา Mix กับ Slide เป็นของบริษัทโสภิต หมายถึงว่าตั้งแต่เจ้าของงานยันผู้จัดถ้าจะเช่าวีดีโอต้องไปเช่า Projector Barco รุ่นที่เป็น 3 เลนส์ ต้องเช่าที่นี่ทีเดียว ซึ่งเขาถือเป็นบริษัทที่เป็นซัพพลายเจ้าเดียวมันทำให้เขาให้บริการไม่ทัน คุณภาพของการบริการก็อาจจะเสียหายไปบ้างในบางงาน จึงเป็นที่มาที่ทำให้ PM ตัดสินใจซื้อ Projector 3 เลนส์ ซื้อ TV Wall และ Projection Wall มาให้บริการ”

“การบริการของเราเริ่มขยายธุรกิจออกไปเรื่อย ๆ ถัดจากนั้นอีกปีเดียวเราก็ตั้ง CMO ซึ่งเป็นบริษัทออแกไนเซอร์ รวมถึงการตั้งบริษัทบันทึกเสียง Channel Sixteen และบริษัททำ Computer Graphic แยกออกมา ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่มีโฆษณาบางกอกแลนด์โฆษณาอันแรกของประเทศที่เขียนเป็นซีจีทั้งเรื่อง ชื่อเมืองแห่งอนาคต กรุงเทพแห่งอนาคต ถ้าคุณจำได้นะ”

 

ยุคที่ 3 : เมื่อ CMO ก้าวเข้าสู่ธุรกิจ Public Event พร้อมกับการรุกเข้าไปเปิดตลาดอาเซียน

“ในช่วงปี 2541 CMO เริ่มมาให้ความสนใจในการทำ Public Event มากขึ้น ตอนนั้นเรามีโอกาสได้รับงาน ‘วัฒนธรรมทองแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 72 พรรษา เฉลิมราชจอมราชันย์’ ซึ่งเรื่องชุดนี้จะเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการสร้างโชว์เอาท์ดอร์แบบที่มีนักแสดง ผสมกับเทคนิคไลท์แอนด์ซาวด์ เราก็นำเอาเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้นมาใช้ จนได้เป็นการแสดงแสงเสียงและสื่อผสม แล้วก็ประสบความสำเร็จมาก ถัดจากนั้นปี 42 เราจึงได้ขยายการแสดงแสงเสียงและสื่อผสมอันที่ประสบความสำเร็จนั้นไปทั่วประเทศในชื่อ ‘ธ สถิตในดวงใจไทยทั่วหล้า’ แสดงต่อเนื่อง 7 เดือน จบการแสดงมียอดผู้ชมรวมถึง 600,000 คน”

“ในปี 2543 เราต่อยอดการทำ Public Event ให้เข้มข้นยิ่งขึ้น ด้วยการสร้าง ‘เทศกาลวัดอรุณ’ ซึ่งเป็นงานเทศกาลไทยย้อนยุค มีการฟื้นฟูการแสดงหุ่นหลวง การแสดงโขนชักรอก การแสดงญวนหก ซึ่งทั้ง 3 การแสดงที่ไม่ได้มีการแสดงมานานกว่า 100 ปี ซึ่งเราจัดแสดงที่วัดอรุณต่อเนื่อง 4 ปีจนกระทั่งหยุดไป แต่ว่านั่นก็เป็นการจุดกระแสของการทำ Public Event ขึ้นมา”

“หลังจากความสำเร็จในการทำ Public Event อย่างต่อเนื่อง จนไปถึงงาน Thailand Bangkok Countdown จัดที่เซ็นทรัลเวิร์ล 3 ปี เราเป็นเจ้าของงาน เป็นเจ้าของอีเว้นท์ พูดง่าย ๆ ว่าเป็นคนสร้างและเป็นเจ้าของแบรนด์ ซึ่งงานเทศกาลวัดอรุณก็เช่นกัน และปัจจุบันเราก็ยังเป็นอยู่ แล้วก็หัวหินแจ๊ส อันนี้เราก็สร้างแบรนด์หัวหินแจ๊สขึ้นมาซึ่งตัวงานเป็นของเรา แต่ License การจัดเป็นเมืองหัวหิน ”

“ช่วงเวลานี้เรามีความชำนาญในการทำงานใหญ่ จนคิดถึงการก้าวไปในตลาดอาเซียน วันหนึ่งเมื่อโอกาสมาถึงเราก็จัดตั้งบริษัท Bayon CM Organizer ที่พนมเปญ โดยหุ้นกับบายอนทีวีของกัมพูชา บริษัทได้รับ License ในการทำแสงเสียงและสื่อผสมที่ปราสาทนครวัด ซึ่งเราก็ทำเป็นเวลา 2 ปี หลังจากนั้นมันมีความวุ่นวายทางการเมืองที่พรมแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาก็เลยต้องหยุดการแสดง เพราะว่าเราเป็นบริษัทไทยแต่ถือหุ้นถึง 70% แต่อย่างไรนั่นคือสเต็ปการก้าวเข้าไปในตลาด AEC ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเราก็มีงานที่เวียดนาม ลาว เมียนม่า เราตั้งบริษัทในอินโดนีเซีย มีงานในมาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไน”

 

ยุคที่ 4 : ช่วงเวลาแห่งการปรับตัวครั้งใหม่เพื่อรับมือวิกฤติที่ถาโถม

“มาสู่ยุคที่มีวิกฤตทางการเมืองที่ต่อเนื่อง ทำให้ธุรกิจทางด้าน Corporate Marketing Event มันดูเหมือนจะซบเซา ทำให้ทาง CMO ต้องแสวงหามุมมองอื่นที่มันเป็น Non-Event เข้ามาในธุรกิจของเรา เริ่มตั้งแต่เมื่อประมาณ 6-7 ปีที่แล้วเราก่อตั้ง CM Museum คือทำพิพิธภัณฑ์ เพราะตัวธุรกิจไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ มันสร้างในพื้นที่ปิด ก็เป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ที่เกิดขึ้นจากการปรับตัวของเรา”

“ในปีที่แล้วเราก่อตั้งถึง 4 กิจการ ที่เป็น Non-Event กิจการแรก คือ PM Fusion ขายอุปกรณ์ติดตั้งถาวรสำหรับธุรกิจรีเทล, กิจการที่สอง ธุรกิจสวนสนุก Imaginia ที่เอ็มโพเรียม ซึ่งเป็นสวนสนุกที่เน้นในเรื่องของศิลปะ วรรณกรรม ดนตรี และพัฒนาการของเด็ก, กิจการที่สาม Momentum S เป็นบริษัททำทางด้าน Private Event พวกงาน Wedding Planner, งาน Anniversary, งานวันเกิด, งานครบรอบสำคัญ  และงานเปิดตัวสินค้า, และกิจการที่สี่ Muse Corporation ทำเกี่ยวกับเรื่องของ Music และ Entertainment Business ”

“นี่คือรูปแบบธุรกิจอีเว้นท์ใหม่ที่ทาง CMO ทำอยู่ ซึ่งมีแนวโน้มในการสร้างงานที่ให้ความรู้สึกแบบ Lifestyle มากขึ้น รวมถึงงานทางด้าน CRM คืองานที่ให้บริการลูกค้าชั้นสูงในธุรกิจ Banking และธุรกิจการขายตรงบางส่วน ซึ่งกลุ่มนี้ต้องการบริการที่ Exclusive จริง ๆ เราจึงทำการสร้างเซกเมนท์ใหม่เพื่อบริการให้คนกลุ่มนี้โดยเฉพาะ ทั้งหมดที่สรุปมาถือเป็นภาพรวมการเปลี่ยนแปลงในวงการอีเว้นท์ และการเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจของ CMO ในระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา”

……………………………………………………….

 

_MG_2046

:

MKT Event : ใน 30 ปีที่ผ่านมา คุณสามารถสรุปบทเรียนและได้เรียนรู้อะไรจากช่วงเวลาดังกล่าว

เสริมคุณ : ใน 30 ปีที่ผ่านมา เราถูกหล่อหลอมให้ไม่หยุดนิ่ง เพราะว่าการที่คุณข้ามยุคสมัยของสังคม บริบทของธุรกิจ บริบทของสังคม รวมถึงคุณค่าต่าง ๆ ที่เปลี่ยนไปใน 30 ปี  มันต้องการการปรับตัวมากเหลือเกินในแต่ละช่วง เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่ทำให้เราอยู่รอดมาได้ก็คือการปรับตัว ความเข้าใจในเรื่องการเปลี่ยนแปลง และการยอมรับความเปลี่ยนแปลง รวมถึงสิ่งสำคัญมากที่สุดคือการมีความรู้ที่จะสามารถตอบสนองกับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างถูกต้องแม่นยำ

MKT Event : การปรับตัวเพื่อการเปลี่ยนแปลง เกิดจากประสบการณ์ในการทำงานใช่หรือไม่

เสริมคุณ : ผมว่ามันเกิดจากใจเราที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงก่อน ไม่ได้มาจากประสบการณ์นะ ซึ่งบางครั้งประสบการณ์อาจจะเป็นผลร้ายมากกว่าด้วยในกรณีที่คุณเคยประสบความสำเร็จ คุณก็จะใช้ประสบการณ์ที่คุ้นเคยเพื่อทำสิ่งใหม่ เพราะคิดว่ามันจะต้องประสบความสำเร็จเหมือนทุกครั้ง แค่คิดแบบนี้ก็ผิดแล้ว รับรององค์กรอยู่ได้ไม่เกิน 5 ปีเชื่อเถอะ

MKT Event : ทำไมคุณถึงตั้งเงื่อนไขที่สามารถตัดสินความล้มเหลวแก่องค์กรไว้ที่ 5 ปี

เสริมคุณ : คือเท่าที่ผมทำงานมาทั้งชีวิต จะสังเกตเห็นเสมอว่าทุก 5 ปีจะมีความเปลี่ยนแปลงใหญ่ ๆ เกิดขึ้นเสมอ ยิ่งยุคนี้ความเปลี่ยนแปลงมันจะเกิดเร็วขึ้น เพราะมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นแรงผลัก อย่างเมื่อก่อนตอนเริ่มมีฟิล์มเกิดขึ้นในโลกต้องใช้เวลาเกือบเป็นร้อยปีที่ฟิล์มจะเลิกใช้ แต่ว่ายุคนี้แค่ไม่ถึง 30 ปี คอมพิวเตอร์ก็ลดบทบาทลงไปแล้ว กลายเป็นแทบเลตถูกไหม มันสั้นลงเรื่อย ๆ นะ ดังนั้นเมื่อทุกอย่างมันวิ่งอยู่บน Fast Track ไดนามิคของความคิดมนุษย์จึงต้องได้รับการพัฒนาให้ทันเช่นกัน

MKT Event : เมื่อถูกกำหนดอยู่บน Fast Track อย่างที่คุณว่า คนทำงานอีเว้นท์รุ่นใหม่ ต้องปรับตัวอย่างไร

เสริมคุณ :  ความใส่ใจในเรื่องของการเรียนรู้และเคารพความต้องการของสังคม ตลาด ลูกค้า มันเป็นสังคมใหญ่ ตลาดคือในมาร์เกต ลูกค้าคือเป็นบุคคล ต้องเปิดหูให้กว้างเข้าไว้ รับฟังมาก ๆ แล้วเข้าใจเหตุผลในมุมมองของเขา จะทำให้เราสามารถปรับตัวได้เอง

MKT Event :  นอกจากบทเรียนในการพัฒนาแล้ว มันมีจุดผิดพลาดอะไรที่คุณอยากกลับไปแก้ไขบ้างไหม

เสริมคุณ : มี ความผิดพลาดที่เราจำไว้เป็นกรณีศึกษา มันมีเยอะแยะ ตั้งแต่สมัยที่เราทำดิอายส์ มันก็มีครั้งหนึ่งที่เรารับงาน Multi Vision 3 เรื่อง เป็นแบบ 2 จอ ซึ่งเป็นงานที่มีความซับซ้อนในการทำ งานนั้นเป็นของบริษัทพานาโซนิค แล้วในกระบวนการทำงานก็มีการแก้เนื้อหามากเหลือเกิน ก็ให้แก้มาเรื่อย ๆ จนในที่สุดเราไม่สามารถทำเสร็จในวันที่ต้องฉาย ซึ่งนี่ก็คือเป็นความล้มเหลวแน่นอน อันนี้ก็เป็นบทเรียนให้เราต้องเข้าใจเรื่อง Priority ให้ดี

MKT Event : ในเรื่อง Priority ที่ถูกต้อง คนทำอีเว้นท์ต้องเข้าใจมันอย่างไร

เสริมคุณ :  กรณีที่ลูกค้าแก้ไม่จบไม่สิ้นจนกระทั่งงานไม่เสร็จ ผมไม่ได้คิดว่าเป็นความผิดของลูกค้า แต่เป็นความผิดของเราต่างหาก  เพราะในฐานะที่เราเป็นมืออาชีพ เราต้องบอกได้ว่าเมื่อไหร่ลูกค้าต้องหยุดแก้ แล้วเมื่อไหร่เป็นเวลาที่จะต้องเป็น Production Time ของเรา อันนี้ต่างหากซึ่งเป็นความรับผิดชอบของเราที่แท้จริงในการส่งต่องาน ก็เป็นบทเรียนครั้งสำคัญที่ทำให้เวลาเราควบคุมงาน เราจะดูข้ามช็อตไปถึงปัญหาที่อาจจะเกิด แล้วปกป้องงานให้มันเสร็จทันเวลา

MKT Event : ทุกวันนี้ทีมงาน CMO Group จัดการกับเรื่องพวกนี้ได้ดีแค่ไหน

เสริมคุณ : เราจริงจังกับเรื่อง Management มาก คืองานออแกไนซ์แม้ว่าจะมีกำเนิดจากความคิดสร้างสรรค์ แต่เวลาทำจริง งานสร้างสรรค์มันเป็นเพียงแค่ไม่ถึง 20% ของงานทั้งหมด แต่ว่างานบริหารจัดการความคิดสร้างสรรค์นั้นให้ไปสู่การปฏิบัติที่ดี มันเป็น 80% เลยนะ เพราะฉะนั้นผู้ที่ทำงานด้านนี้ต้องบริหารเป็น ต้องรู้จักเวลา รู้จักอะไรควรเมื่อไหร่ อะไรเสร็จเมื่อไหร่ รู้จักการตัดสินใจที่จะหยุดอะไรและเดินอะไร รู้จักการตัดสินใจบนความล้มเหลว คืองานออแกไนซ์ที่ดีไม่ได้แปลว่าไม่เคยล้มเหลว แต่แค่ไม่เคยมีใครเห็นว่ามันล้มเหลวต่างหาก ถูกไหม คือมันผิดพลาดได้ แต่ไม่เคยมีใครเห็นมันผิดพลาด แล้วก็ไม่ควรจะมีคนเห็นจุดผิดพลาดนั้นเลย

MKT Event :  ในฐานะผู้นำองค์กร คุณได้วางวิสัยทัศน์ไว้อย่างไรเพื่อให้องค์กรเดินต่อไปสู่ความเป็น Build to Last อย่างยั่งยืนในอนาคต ซึ่งอาจจะเป็นวันที่ไม่มีคุณอยู่ก็ได้

เสริมคุณ : ผมต้องบอกแบบนี้ว่าองค์กรเรามันถูกสร้างมาด้วยระยะเวลายาวนาน ซึ่งผมเองก็ได้สร้างระบบกระจายอำนาจไว้ออยู่แล้ว ปัจจุบันนี้เรามี MD มากกว่า 12 คน ในกลุ่มบริษัทของเรา แล้วก็มี Director อีกหลายสิบคน มี Manager สัก  30-40 คนได้ แล้วคนเหล่านี้เขาก็มีวัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็ง เหล่านี้มันเป็นหลักประกันว่าวันหนึ่งที่ผมอาจจะมีบทบาทน้อยลงในองค์กร หรือถึงวันหนึ่งที่ไม่มีบทบาทอะไรเลย หรือจะออกจากองค์กรเลย เกษียณ อะไรก็แล้วแต่ องค์กรนี้จะอยู่ได้ด้วยระบบโครงสร้างของการบริหารร่วมของท่านเหล่านี้อย่างยั่งยืนได้ ผมเชื่อเช่นนั้น

MKT Event : สุดท้ายยังมีงานระดับ Master Piece รูปแบบไหนที่ เสริมคุณ คุณาวงศ์ อยากทำให้สำเร็จ

เสริมคุณ : มีงานที่ยังอยากจะทำอยู่ ก็ยังสนใจที่จะทำงานวัฒนธรรมแบบเทศกาลวัดอรุณให้มีความยั่งยืน สนใจที่อยากจะทำเรื่อง Tourist Attraction ซึ่งตอนนี้เรามีหินสะพานอวตารที่จะเปิดปลายปีนี้ ให้เป็นหนึ่งในกลุ่มที่มีพลังสูงจาก CMO และอันสุดท้ายก็คงจะเป็นเรื่องของการมีธุรกิจที่ยั่งยืนใน CLMV และอาเซียน นี่คือความตั้งใจของผม

mkteventmag
No Comments

Post a Comment